จากประเด็นการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเมื่อปีที่แล้ว หลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญและมีการถกเถียงกันมาตลอดเพื่อหาวิธีแก้ไข ล่าสุดทางโครงการศิลป์เสวนา และฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ "ยุบโรงเรียนของหนูทำไม? มุมมองจากภูมิศาสตร์"
อ.จินดา แซ่จึง ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยกับทาง สพฐ. ในกรณีที่มีโรงเรียนอยู่ใกล้กันและสามารถยุบรวมกันได้ เพราะจะช่วยให้ สพฐ. จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้ดีกว่า
"บางโรงเรียน บางปีไม่มีนักเรียนเข้าเรียนเลย แต่ว่ามีครู มีทุกอย่างพร้อม มันก็กลายเป็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณใช่มั้ยคะแทนที่ถ้ามีโรงเรียนเหมือนกัน แต่อยู่ใกล้กันภายในรัศมี 3กิโลเมตร สามารถยุบรวมกันได้ มันก็สามารถทำให้ทางสพฐ. จัดสรรงบประมาณ ยุบรวมมาให้โรงเรียนเดียวกันไปเลย ให้เงินสนับสนุนเป็นโรงเรียนเดียวกันไปเลย ก็จะสามารถทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพขึ้นไปด้วย"
อย่างไรก็ตาม นางสาวอินทิรา วิทยสมบูรณ์ สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา มองว่าควรสร้างเครือข่ายชุมชนที่อยู่ใกล้กันเพื่อร่วมพัฒนา มากกว่ายุบควบโรงเรียน โดยยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านกุดเสถียร ในจังหวัดยโสธร ซึ่งประสบภาวะเตรียมถูกยุบโรงเรียน ทำให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนา จากที่มีนร.ไม่กี่คน จนตอนนี้มีกว่า 300คนแล้ว
"มันต้องทำให้คนทุกคนรู้สึกว่าแท้จริงแล้วเนี่ย การศึกษาเป็นเรื่องของเราทุกคน มันไม่ใช่เรื่องของกระทรวงศึกษา แล้วมันก็ไม่ใช่ของคุณครูหรือผอ.โรงเรียนเพียงไม่กี่คนที่จะมาดูแลลูกหลานของเรา ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการมากๆก็คือว่า มันต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วม หรือการกระจายอำนาจให้ประชาชน พ่อ แม่ ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ให้ชุมชนเข้ามาร่วมออกแบบ"
เห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทยังคงมีหลากหลายความคิดเห็นต่อการดำเนินงาน ขณะที่การบริหารจัดการในประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และหากมีดำเนินการใดๆก็ควรพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้านมากกว่ามุ่งเป้าหมายเพื่อผลสัมฤทธิ์เท่านั้น
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2557