Advertisement
"รศ.ดร.สุธีร์" ไอน์สไตน์ เมืองไทย
ผู้สร้าง"สายอากาศสุธี"ที่ในหลวงรับสั่งว่า"แจ๋วมาก"
คอลัมน์ Hello เซเลบ
พระบรมฉายาลักษณ์พระราชกรณียกิจภาพหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ปวงชนชาวไทยเห็นจนเจนตา เป็นภาพที่ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวิทยุสื่อสารและจะทรงพกติดพระองค์ในการประกอบพระราชกรณียกิจอยู่เสมอ" ด้วยทรงตระหนักดีว่า การสื่อสารทางวิทยุจะเป็นสื่อที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ทรงสดับรับฟังสุขทุกข์ของประชาชน และปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าข้าราชการได้ตลอดเวลา
ย้อนไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน การติดต่อสื่อสารยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าในปัจจุบัน โทรศัพท์มีใช้เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ส่วนการปฏิบัติงานของทหารตำรวจหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร ต้องใช้วิทยุสื่อสารขนาดเล็กที่พอจะทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะปัญหา "ขาดสายอากาศคุณภาพสูง"
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการวิทยุสื่อสาร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนา "การสื่อสารทางวิทยุและสายอากาศ" โดยได้ รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ เป็นผู้สนองพระราชดำริในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศและอิเล็กทรอนิกส์
ด้วยภาพลักษณ์และความรู้ความสามารถทำให้ผู้ชายคนนี้ได้รับการขนานนามว่า"อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เมืองไทย"
เขาคือนักวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบคำนวณและวิจัย "สายอากาศสนองพระราชดำริ" นามพระราชทาน "สุธี 1 - สุธี 2 - สุธี 3 - สุธี 4" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้สายอากาศทั้ง 4 แบบนี้ไว้ในราชกิจจานุเบกษา และสายอากาศสุธียังได้เป็นหนึ่งในลายของ "แสตมป์ที่ระลึก" ชุด "พระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม"
รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมวิจัย สภาวิจัยแห่งชาติ, กรรมการบริหาร กรรมการดำเนินงาน และประธานอนุกรรมการเทคนิค มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ในวัย 75 ปี แต่ยังกระฉับกระเฉงได้ย้อนเล่าถึงเรื่องราวชีวิตความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตที่ได้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท
จาก"ข้าวนอกนา" สู่ "วิศวกรนาซา"
"ผมเป็นคนต่างจังหวัด บ้านเดิมอยู่ อ.สวี จ.ชุมพร มีพี่น้อง 8 คน ผมเป็นลูกคนที่ 3 มาเรียนต่อ ม.7-8 ที่กรุงเทพฯ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นวิชาใหม่ที่ผมคิดว่าท้าทาย เพราะมองว่าเทคโนโลยีนี้จะก้าวหน้าในอนาคต" รศ.ดร.สุธีเริ่มเล่า
แต่ด้วยมาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง สุธีในวัยหนุ่มจึงต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ตั้งแต่เป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปจนถึงรับจ้างเขียนแบบเรือรบ "ตอนนั้นคิดเพียงว่า คุณพ่อคุณแม่ส่งให้ได้เรียนก็ดีใจแล้ว แม้จะต้องลำบากบ้างก็ไม่เป็นไร"
เมื่อเรียนจบวิศวะจากรั้วจามจุรี สุธีเข้าทำงานที่กรมการบินพาณิชย์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมการบินพลเรือน) แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะศึกษาต่อจึงสอบชิงฟุลไบรท์ไปศึกษาระดับปริญญาโทที่ "ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ไอโอวา" สหรัฐอเมริกา
"ใจผมอยากเห็นอะไรมากๆ เพื่อเป็นประสบการณ์ มาเรียนมหาวิทยาลัยนี้ก็ไม่ได้มีความรู้ว่าเป็นอย่างไร มารู้ทีหลังว่าโครงการดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐทำที่นี่ พอมาคิดย้อนหลังก็รู้สึกว่า ถ้าเราคิดดี ก็อาจจะได้ดี โดยวิธีใดก็ตามที่ผมก็นึกไม่ถึง"
|
ด้วยเป็นคนที่ชอบศึกษาหาความรู้ ระหว่างศึกษาปริญญาโท สุธีสมัครเข้าไปทำงานในองค์การนาซา ปฏิบัติงานเป็นอิเล็กทรอนิกส์ดีไซน์ เอ็นจิเนียร์ เพื่อออกแบบวงจรใช้กับดาวเทียมสำรวจอวกาศ และมีส่วนร่วมในการสร้างดาวเทียมอินจัน รวมไปถึงยานอวกาศอะพอลโล่ 11
"งานแรกที่ทำ ผมได้รับโจทย์ให้ทำเครื่องมือสื่อสารบอกการทำงานของสายอากาศและแผงโซลาร์เซลล์บนดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปในอวกาศลงมาที่หน่วยควบคุมภาคพื้นดินระยะห่าง350กิโลเมตรก็คิดอยู่หลายวันจนได้เป็นเครื่องมือง่ายๆเป็นสวิตช์ส่งสัญญาณที่ติดอยู่ที่ข้อต่อทุกอันเมื่อดาวเทียมถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศ เมื่อสายอากาศและแผงโซลาร์เซลล์กางออก สวิตช์ก็จะทำงานและส่งคลื่นสัญญาณมาบอกให้รู้ว่าสายอากาศและแผงโซลาร์เซลล์ได้กางออกแล้ว"
สุธีจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาพลาสม่า ฟิสิกส์ และได้รับเชิญให้ไปทำงานวิจัยพลาสมาเต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถทำอุณหภูมิได้สูงถึง 1 ล้านองศาเซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิผิวดวงอาทิตย์ที่สูง 6 พันองศาเซลเซียส ที่กองเทอร์โม-นิวเคลียร์ ณ สถาบันห้องทดลองแห่งชาติ ORNL ที่เมืองโอ๊คริดจ์ รัฐเทนเนสซี
"ผมเป็นข้าวนอกนาเข้าไป ที่นี่เป็นเขตหวงห้ามของสหรัฐ ท็อปซีเคียวริตี้ ซึ่งพอไปอยู่จริงๆ ได้สัมผัสนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกแล้ว ทำให้ผมรู้ว่าคนที่มีความรู้จริงและไม่มีอคติ เขามีเมตตาธรรม"
พับเพียบ
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเมืองนอกเมืองนาอยู่ 4 ปี รศ.ดร.สุธีก็ทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นบาทกลับมาทำงานที่บ้านเกิดที่กรมการบินพาณิชย์ และช่วยราชการในฐานะที่ปรึกษางานวิจัยด้านสายอากาศ ระบบสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร ซอยกล้วยน้ำไท
"ในครั้งแรก ผมทำงานตามพระราชดำริโดยไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนบอกว่า ให้เข้าไปในวังด้วยกัน และให้นำระบบสายอากาศไปติดตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯมา แต่ว่าแปลกใจทำไมอยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์อยู่บนดาดฟ้าของพระตำหนักถึงปีนลงมาทั้งๆ ที่งานยังไม่เสร็จ แท้ที่จริงพระองค์เสด็จมายืนอยู่ข้างหลัง
"ผมหันหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ก็ตกใจมาก รีบคุมสติและทำความเคารพ แล้วรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมาเป็นเหมือนชันเข่า ปรากฏว่าพระองค์ก็ทรงคุกเข่าลงมาด้วย ด้วยความคิดที่ต้องนั่งให้ต่ำลงกว่าอีก จึงนั่งพับเพียบลง แต่กลายเป็นว่า พระองค์ก็ประทับพับเพียบลงตรงหน้าผมเลย"
นับตั้งแต่นาทีนั้น บทสนทนาระหว่าง "พระราชา" กับ "นักวิทยาศาสตร์หนุ่ม" ก็เริ่มต้นขึ้นและดำเนินไปเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ท่ามกลางแสงแดดยามบ่ายบนดาดฟ้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
รอยัล สแตนดาร์ด
"ทรงให้โจทย์คุณสมบัติของสายอากาศมา 23 ข้อ หลักใหญ่ๆ ประการแรก ต้องเป็นสายอากาศที่ใช้ในช่วงคลื่นกว้าง ปกติสายอากาศ 1 ตัวใช้กับวิทยุ 1 เครื่อง แต่ของพระองค์มี 42 เครื่อง ประการ
ที่ 2 มาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ คือ ให้เกิดความผิดพลาดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว แต่ของพระองค์ ผิดพลาดได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานที่กล่าวขวัญว่า รอยัล สแตนดาร์ด
"ท้ายที่สุด พระองค์รับสั่งว่า ต้องไปช่วยคนในชนบท และวิธีสั่งการที่ดีที่สุด คือทางวิทยุ ฉันไม่ได้ทำเพื่อฉันเอง แต่ถ้าทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ ทำให้การดูแลประชาชนเร็ว"
จากกระแสพระราชดำรัสในครั้งนั้นได้มาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาทตลอดมา
สุธี 1
สิ่งที่ทำให้การสื่อสารผิดพลาดน้อยที่สุดจาก 10 เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์นั้น นอกจากต้องตั้งโจทย์คำนวณถึง 43 สมการ 20 ตัวแปรแล้ว อีกสิ่งหนึ่ง คือ "แล็กเกอร์"
"งานของพระองค์ไม่มีในตำรา การแก้ปัญหาของผม พุ่งเป้าไปที่พื้นผิวของโลหะของสายอากาศที่เป็นมันวับ ห้ามมีออกไซด์เกาะเพราะจะทำให้หมอง ถามว่า สั่งวัสดุที่ไม่หมองจากต่างประเทศได้ไหม ก็ได้ แต่แพงมาก ผมนั่งคิดนอนคิดอยู่หนึ่งคืน รุ่งเช้าก็ไปซื้อแล็กเกอร์มาพ่นที่สายอากาศ ปรากฏว่าใช้ได้ดี ไม่มีปฏิกิริยากับโลหะ เสียเงินน้อย และอยู่ได้เป็น 10 ปี"
สายอากาศสุธี 1 ใช้เวลาในการสร้าง 2 ปี เสร็จในปี 2515 เป็นสายอากาศสำหรับเครื่องวิทยุสื่อสารผ่านความถี่สูงมาก สามารถรับส่งได้ไกล หาทิศทางขณะติดต่อได้ สามารถต่อพ่วงกับวิทยุได้หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน และสูญเสียกำลังส่งขณะกระจายคลื่นได้บ้างแต่ให้น้อยที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในงานสื่อสารเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสาธารณภัยต่างๆ ทั้ง อัคคีภัย อุทกภัย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการบรรเทาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2516
สุธี 2 ใช้เวลาสร้าง 14 วัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ทรงมีเวลาให้ รศ.ดร.สุธีทำสายอากาศประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งการทำสายอากาศที่วิทยุกำลังส่งต่ำ 10 วัตต์ ส่งสัญญาณจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ระยะทาง 600 กิโลเมตร "ไม่ง่าย" แต่ รศ.ดร.สุธีก็มุ่งมั่นทำจนสำเร็จ
"หลังจากได้รับโจทย์จากพระองค์ ผมก็ลุยงานเลยทันทีที่ห้องทำงานในซอยกล้วยน้ำไท บ้านช่องไม่ได้กลับ เสื้อผ้าไม่ได้เปลี่ยน เพราะไม่อยากเสียเวลา ทุกวินาทีมีคุณค่ามาก จนกระทั่งทำเสร็จ และสามารถติดตั้งสายอากาศได้ทั้งที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานและพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์"
แม้ตลอด 14 วันจะไม่ได้นอนเลย แต่เขาก็เต็มใจ "ผมคิดแต่ว่าต้องทำให้ได้ เพราะเห็นประโยชน์ที่จะทรงนำไปใช้เพื่อชาวบ้านจริงๆ"
และความปลื้มปีติก็หลั่งไหลมาสู่จิตใจ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯถึงเชียงใหม่ และมีรับสั่งให้ รศ.ดร.สุธีเข้าเฝ้าฯ
"ผมยืนเข้าเฝ้าฯอยู่ปลายแถวข้าราชบริพาร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกมาก่อนและทรงพระดำเนินตรงมาที่ผม รับสั่งว่า "พระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองวิทยุมาตลอดจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ งานของพระเจ้าอยู่หัวที่ทำมาให้ต้องขอบใจ พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เอามาใช้ส่วนพระองค์ ทรงนำไปแก้ปัญหาการติดต่อต่างๆ"
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกตามมา แล้วเสด็จฯ ตรงไปที่ท้ายแถวมาประทับตรงหน้า รศ.ดร.สุธี แล้วรับสั่งว่า "แจ๋วมาก"
สุธี 3-4
สายอากาศสุธี 3 และ สุธี 4 เกิดจากพระราชดำริให้พัฒนาเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงสุด สัญญาณไม่ขาดหายแม้ในสภาพอากาศแปรปรวน พระราชทานแบบให้เปล่าแก่ทางราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงใช้เป็นกิจการรักษาพยาบาลทางไกลของมูลนิธิ พอ.สว.ด้วย
พระอัจฉริยภาพด้านวิทยุสื่อสาร
ในการสร้างสายอากาศแต่ละครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของงานที่ใช้และคุณสมบัติทางเทคนิคด้วยพระองค์เอง ทรงทดลองใช้และพระราชทานคำแนะนำเพื่อพัฒนาสายอากาศนั้นให้ดียิ่งขึ้น
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการพัฒนาเทคโนโลยีมากตั้งแต่ปี2518มีรับสั่งถึงคำว่าดิจิตอลแล้วเรื่องเทคโนโลยีทรงมีความละเอียดรอบคอบงานที่ทรงให้ผมมา แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์ได้เป็นอย่างดี เพราะทรงมองแล้วว่าเป็นไปได้ แต่ต้องพยายามพากเพียร มีสติ และคิดให้ดีเหมือนพระมหาชนก" รศ.ดร.สุธีบอกถึงพระราชจริยวัตรที่ได้สัมผัส
คาถา 3 ข้อ
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งในงานพระราชทานปริญญาพระจอมเกล้าว่า คนเราเมื่อจะทำอะไรแล้ว อย่ารู้แต่เรื่องทฤษฎีอย่างเดียว เพราะงานจะไม่สำเร็จ ให้ลงมือทำ งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ"
เป็นพระราชดำรัสที่ รศ.ดร.สุธีมักอัญเชิญมาพร่ำสอนลูกศิษย์ พร้อมกับ "คาถา 3 ข้อ" ที่ประมวลได้จากการที่ได้ทำงานถวายพระองค์
"ข้อแรก เมื่อมาเรียนหนังสืออย่าเรียนเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ให้เรียนเพื่อสร้างงาน เพราะการสร้างงานจะทำให้สังคมอยู่ได้ 2.หลักคิด อย่าคิดไปเรื่อย แต่ให้คิดต่าง อย่างผมทำงานที่ได้โจทย์จากพระองค์ ผมเชื่อว่า ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยที่พอจะมองเห็นว่าเป็นไปได้ ซึ่งทุกโจทย์ เราก็สามารถฟันผ่าอุปสรรคไปจนได้ นักศึกษาบางคนยังเข้าใจผิดว่าคิดต่างต้องคิดนอกกรอบ แต่ในที่นี้คือ คิดต่างคือคิดนอกกรอบ หรือในกรอบก็ได้ แต่ที่สำคัญ อย่าคิดใหญ่เกินตัว และ 3.เมื่อคิดแล้วต้องทำและทำให้ถูกต้อง คิดให้ถูกต้องทำให้ถูกต้อง ตรงนี้อยู่ที่ค่อยๆ สะสม เห็นอะไรรอบตัวอย่าไปคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา แล้วไม่สนใจ ให้ดู และถ้าบูรณาการได้ ก็ให้บูรณาการ"
ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา
รศ.ดร.สุธีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตามาก จากครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯพระองค์ เมื่อครั้งรับพระราชทานปริญญาบัตร ผมก็คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯอีก แต่เมื่อได้มาทำงานถวาย ได้เข้าเฝ้าฯที่ดาดฟ้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้เข้าเฝ้าฯส่วนพระองค์บ่อยครั้ง ผมพบว่าทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา งานของพระองค์ทุกอย่าง เกือบทุกลมหายพระทัยทรงคิดถึงชาวบ้าน ผมก็เป็นชาวบ้านธรรมดา เมื่อได้มาทำงานถวายก็ตั้งใจทำ ทำด้วยใจ ไม่ได้คิดหวังอะไร เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงทำนั้นเพื่อประชาชน" รศ.ดร.สุธีกล่าว และกล่าวถวายพระพรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมว่า
"ในโอกาสสำคัญเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยได้โปรดบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวร ขอให้มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญแก่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าตลอดไป"
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์
ขายดีมากครับคุณครู (พร้อมส่ง) เครื่องเคลือบบัตรA4 รุ่นSL200 เครื่องเคลือบกระดาษA4 A3 A5 ABSป้องกันการ์ด ในราคา ฿368 - ฿999 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/4VLvxbi7ho?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 33,531 ครั้ง เปิดอ่าน 62,018 ครั้ง เปิดอ่าน 142,639 ครั้ง เปิดอ่าน 63,334 ครั้ง เปิดอ่าน 23,266 ครั้ง เปิดอ่าน 31,952 ครั้ง เปิดอ่าน 32,811 ครั้ง เปิดอ่าน 21,464 ครั้ง เปิดอ่าน 9,653 ครั้ง เปิดอ่าน 48,915 ครั้ง เปิดอ่าน 31,434 ครั้ง เปิดอ่าน 9,672 ครั้ง เปิดอ่าน 24,828 ครั้ง เปิดอ่าน 24,438 ครั้ง เปิดอ่าน 30,104 ครั้ง เปิดอ่าน 24,329 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 16,374 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 15,759 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 59,019 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,749 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 206,780 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 33,531 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 19,537 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 29,040 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,967 ครั้ง |
เปิดอ่าน 67,939 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,625 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,187 ครั้ง |
|
|