ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสังคมยุคที่มีข้อมูลสารสนเทศเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทุกเวลา
ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนผู้คนก้าวตามแทบไม่ทัน สื่อ ICT (Information and Communication Technology) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้นทุกวัน ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและขยายวงกว้างไปทั่วทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาวิชาชีพ ไม่เว้นแม้กระทั่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยเรียน
ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสังคมยุคที่มีข้อมูลสารสนเทศเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ไม่ว่าจะอยู่ในมุมใดของโลก และดูเหมือนว่าเด็กไทยเริ่มใช้สื่อ ICT กันมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่น่าห่วงใยยิ่งนั่นคือ ภัยร้ายที่อาจแฝงมาพร้อมกับข้อมูลข่าวสารในสารพัดรูปแบบ ดังนั้น การเรียนรู้ให้เท่าทันสื่อจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่จะต้องสร้างทักษะให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อ อย่างเช่นสุภาษิตโบราณที่เคยกล่าวไว้ว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”
แม้ว่า ICT ได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาไทยเป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว แต่จากผลการศึกษาวิจัยนานาชาติด้านการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study) หรือ ICILS ประจำปี ค.ศ. 2013 จัดโดยสมาคมนานาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษา เพื่อประเมินผลการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนชั้น ม.2 รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่เข้าร่วมในครั้งนี้ แต่ประเทศที่เก็บข้อมูลได้ครบถ้วนตามเกณฑ์มีเพียง 14 ประเทศเท่านั้น
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยได้จากการสุ่มเลือกนักเรียนไทยชั้น ม. 2 ในสถานศึกษาทุกสังกัด 3,646 คน จาก 198 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,636 คน ทำข้อสอบกลางผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีเนื้อหาเน้นที่ความสามารถในการจัดการและใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยความเข้าใจอย่างปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 จากทั้งหมด 14 ประเทศ ได้ 373 คะแนน ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 500 คะแนน
สำหรับประเทศที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย อันดับ 1 คือสาธารณรัฐเช็ก 553 คะแนน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 542 คะแนน โปแลนด์และนอร์เวย์ 537 คะแนน เกาหลีใต้ 536 คะแนน เยอรมนี 523 คะแนน สาธารณรัฐสโลวัก 517 คะแนน รัสเซีย 516 คะแนน โครเอเชีย 512 คะแนน และสโลวีเนีย 511 คะแนน ส่วนประเทศที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย คือ ลิทัวเนีย 494 คะแนน ชิลี 487 คะแนน ไทย 373 คะแนน และตุรกี 361 คะแนน ซึ่งเราจะเห็นว่า 2 อันดับหลังที่ได้คะแนนรั้งท้ายนั้นมีคะแนนที่ทิ้งห่างจากคะแนนเฉลี่ยมาก
ถ้าพิจารณาจากคะแนนของนักเรียนแต่ละสังกัดพบว่า นักเรียนในโรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้คะแนนเฉลี่ย 518 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติและสูงกว่าโรงเรียนในสังกัดอื่น ๆ รองลงมา คือ นักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 395 คะแนน โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 382 คะแนน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 377 คะแนน โรงเรียนสังกัดเทศบาล/ท้องถิ่น 346 คะแนน และโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. 330 คะแนน
จากการวิจัยดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กับคะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียน ซึ่งถ้าผู้ปกครองมีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูง นักเรียนก็มีแนวโน้มที่จะมีคะแนนสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยนั้นนักเรียน 61% ผู้ปกครองมีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ จึงส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยต่ำลงไปด้วย
ขณะเดียวกันยังพบว่า ครอบครัวที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน จะส่งผลให้นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยยังมีครอบครัวที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านอยู่ถึง 28% ปัจจัยต่อมาคือ สัดส่วนของนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนพบว่า ยิ่งสัดส่วนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์น้อย คะแนนเฉลี่ยจะยิ่งสูง ประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ของครูมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยพบว่ามีครูที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ 8% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ 5% เท่านั้นเอง
การพัฒนาการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 เราคงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า ICT เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถนำมาใช้เพื่อยกระดับการจัดการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลได้เป็นอย่างดียิ่ง แต่การจะก้าวไปให้ถึงจุดหมายปลายทางได้นั้น คงต้องฝากกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งหลายร่วมกำหนดนโยบายวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาบูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่หลักสูตรจะต้องมีการสอดแทรก ICT เข้าในกิจกรรมการเรียนการสอนและส่งเสริมให้เกิดการคิด วิเคราะห์ และการสร้างองค์ความรู้ ต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะพื้นฐานในการใช้ ICT เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ส่วนผู้บริหารและครูผู้สอนจะต้องมีทักษะพื้นฐานและสามารถนำ ICT ไปประยุกต์ใช้ในเชิงบริหารและกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาสามารถเลือกใช้ ICT ที่สอดคล้องเหมาะสมกับผู้เรียน
ณ วันนี้จะต้องพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ได้ตามความสนใจ การจัดการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่นให้มากขึ้น การนำ ICT มาประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ต้องมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer Assisted Instruction) การเรียนรู้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) การเรียนรู้โดยใช้การสื่อสารทางไกล (Distance Learning) และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าศักยภาพของผู้เรียนและเทคโนโลยีปัจจุบันเอื้อต่อการเรียนรู้ได้อย่างไร้ขอบเขต สิ่งที่อยากเห็นคือการใช้ ICT เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ ให้มีการ “ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน” ให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเสียที.
ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 2 ธันวาคม 2557 เวลา 02:28 น.