สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ในการพิจารณาความผิดวินัยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาและ/หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ที่ผ่านๆ มานั้น ยังมีบางเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาโดยผิดหลงหรือไม่ถูกต้อง เพื่อเป็นข้อเตือนใจในการพิจารณาให้ถูกต้องตามบทกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี วันนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ
การพิจารณาความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หลายท่านคงทราบดีแล้วว่าต้องพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายให้ครบองค์ประกอบของความผิดฐานทุจริต กล่าวคือ ผู้กระทำต้อง 1) มีหน้าที่ราชการ 2) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ 3) เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ และ 4) มีเจตนาทุจริต ซึ่งผู้กระทำต้องมีเถยจิตหรือจิตอันชั่วร้าย คิดเป็นโจร ส่วนในปัญหาข้อเท็จจริงก็ต้องมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้ง เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงปรับฐานความผิดวินัยเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งความผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีโทษสองสถานคือ ปลดออกหรือไล่ออก แต่โดยที่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการนับเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ซึ่งทางราชการไม่พึงประสงค์ที่จะให้บุคคลที่ประพฤติเช่นนี้อยู่ในราชการ จึงมีมติคณะรัฐมนตรีแจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 สรุปได้ว่า การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใด ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นโทษปลดออกจากราชการ นั่นคือจำต้องไล่ออกจากราชการสถานเดียว
ดิฉันขอเรียนว่า ยังพบผู้บังคับบัญชาผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำนวนหนึ่ง เมื่อตรวจพิจารณาสำนวนการสอบสวนที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษไล่ออกฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบว่าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอ แต่กลับมีความเห็นเสนอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีมติลงโทษปลดผู้กระทำผิดออกจากราชการ และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาก็มีมติให้ลงโทษปลดผู้กระทำผิดคนนั้นออกจากราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสาม ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งไม่ต้องด้วยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้ผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญไปพร้อมกับการถูกปลดออก จึงทำให้นโยบายการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบไม่อาจสัมฤทธิผลได้โดยแท้ และดิฉันอยากเรียนย้ำเตือนว่า ในส่วนของผู้บังคับบัญชาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ผู้พิจารณาอาจมีความผิดวินัยเสียเองได้ เพราะการเป็นข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอีกด้วย ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ดังนั้น การพิจารณาความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการจำต้องพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ระมัดระวัง รักษาประโยชน์ของทางราชการ อนึ่ง หากพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานโดยชัดแจ้ง หรือไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แต่กรณีอาจเป็นความผิดฐานอื่นๆ ได้ เช่น กรณีปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ, กรณีกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นต้น หากพิจารณาแล้วชัดแจ้งทั้งปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วว่าผู้กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ราชการต้องลงโทษไล่ออกจากราชการเท่านั้น เพื่อประโยชน์ของทางราชการและช่วยกันขจัดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการให้หมดไป แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ
ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557