คอลัมน์ Education Ideas
โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
ผมขออ้างอิงข้อมูลรายงานภาคการผลิตและบริการที่มีศักยภาพในการทำรายได้ให้กับประเทศ ที่ศึกษาและจัดทำขึ้นโดยสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่แบ่งภาคการผลิตและบริการที่มีศักยภาพในการทำรายได้ให้กับประเทศออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ภาคการเกษตร ได้แก่ สินค้า ข้าว ยางพารา ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ผลไม้ (มันสำปะหลัง/อ้อย/ปาล์มน้ำมัน) ประมง ปศุสัตว์
ส่วนที่ 2 ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม 6 กลุ่ม และ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่ง 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร (ผลไม้ อาหารทะเล เนื้อสัตว์แปรรูป) ปิโตรเคมี/พลาสติก Biodiesel/Ethanol ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (อาหารเสริม เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยา) Bioplastic/ Biomaterials อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ออกแบบ แฟชั่น อัญมณี โฆษณา สถาปัตยกรรม หุ่นยนต์ OTOP)
ส่วนที่ 3 ภาคบริการ ได้แก่ ท่องเที่ยว ค้าปลีก/ค้าส่ง ก่อสร้าง สื่อสารและโทรคมนาคม บริการสุขภาพ
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีฐานวัตถุดิบภาคเกษตรที่เข้มแข็งและมีศักยภาพสูง หากมีการแปรรูปด้วยกระบวนการทางอุตสาหกรรมจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น สำหรับ 6 อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นฐานรายได้ของประเทศจะต้องปรับตัวทั้งในด้านศักยภาพการผลิตและคุณภาพให้สูงขึ้น เนื่องด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนในอนาคตคือการก้าวเข้าสู่ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง (Value Added) และสามารถสร้างสรรค์มูลค่า (Value Creation) ได้มากกว่าอุตสาหกรรมกลุ่มเดิม ส่วนภาคบริการมีจุดแข็งโดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว หากสามารถบูรณาการทุกภาคส่วนของการบริการก็จะทำให้รายได้เข้าประเทศมากขึ้น
ทิศทางการศึกษาของไทย
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นทิศทางของภาคเศรษฐกิจที่ต้องการกำลังคนมาขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก แต่เมื่อย้อนกลับมาดูข้อมูลการผลิตนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช.และ ปวส.ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญเข้าสู่ตลาดแรงงานตามทิศทางของประเทศ แต่กลับพบว่าตัวเลขผู้เข้าศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มที่เหมือนกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ
นักศึกษาเลือกเรียนเกษตรกรรม การท่องเที่ยวในสัดส่วนที่ต่ำมาก รวมไปถึงคหกรรมศาสตร์ที่เรียนเกี่ยวกับอาหารก็มีตัวเลขที่ต่ำเช่นเดียวกัน กลุ่มวิชาบริการธุรกิจกลับได้รับการเลือกศึกษาต่อเป็นอันดับต้น ๆ ในขณะที่กลุ่มวิชาอุตสาหกรรมที่แม้ว่าจะมีตัวเลขค่อนข้างสูง แต่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อย ทั้ง ๆ ที่เป็นกำลังคนที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการมาก กำลังคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะพยายามศึกษาต่อระดับปริญญาตรีเพื่อยกระดับวิทยฐานะ โดยคาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้าในอาชีพ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 พ.ย. 2557
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ระบบการศึกษาที่ไม่สมดุล (1)
ระบบการศึกษาไม่สมดุล (จบ)