จากงานวิจัย และแนวคิดของ “ดร.สกุลรัตน์ กมุทมาศ” เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาไทย ในฐานะนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย นครนิวยอร์กที่มีประสบการณ์ดูงานจากประเทศที่พัฒนาแล้วหลายสิบปี น่าคิดได้ว่า หากจะนำมาปรับใช้ในยุคปฏิรูปการศึกษาในเวลานี้ น่าจะเป็นผลดีไม่น้อยทีเดียว
หากดูจาก แนวคิดรวบยอดทั้งหมดที่ ดร.สกุลรัตน์ กล่าวถึง จะได้ใจความว่า ท่านกลัวผู้ปฏิรูปการศึกษาไทยครั้งยิ่งใหญ่นี้หลงทาง โดยคลำไม่ถูกจุดว่าอะไรคือ ต้นตอของปัญหาที่การศึกษาไทยตกต่ำ เพราะขณะนี้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย กำลังจะเน้นไปที่โครงสร้าง การกระจายอำนาจ งบประมาณและผู้บริหาร
ในความเป็นจริง โรงเรียนคุณภาพระดับโลกเขาจะเน้นที่คุณภาพของครู ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญจากผลงานวิจัย ที่พบว่า นักเรียนทุกระดับเก่งและเป็นคนดีขึ้น 3 เท่า เพราะครูสอนเก่ง (High Performing Teacher) เช่น ประเทศสิงคโปร์ นักเรียนทำคะแนนสูงสุด เพราะครูสอนเก่ง ในการประเมินโครงการ TIMSS ทดสอบ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านทั้งๆ ที่จัดสรรงบประมาณระดับประถมศึกษาน้อยกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ
ประเทศฟินแลนด์ นักเรียนเริ่มเข้าเรียนเมื่ออายุ 7 ปี เรียนเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง ใน 2 ปีแรก หลังจากนั้นใช้ครูเก่ง เร่งสอน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน นักเรียนได้คะแนนสูงสุดระดับโลก
ประเทศพัฒนาแล้ว 25 ประเทศ สรุปผลการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนในทางที่ดีขึ้นอย่างจริงจัง เพราะเน้นที่การพัฒนาครูให้สอนเก่ง และมีกระบวนการเกี่ยวกับครู ดังนี้
1.คัดคน เก่ง ดี และมีอุดมการณ์มาเป็นครูให้เงินเดือนสูง
2.ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาการสอนในระยะเวลา 10 ปี ก่อนเป็นประจำการ (Tenure)
3.ประกันระบบการจัดการเรียนการสอนที่ดี ที่สุดสำหรับนักเรียนทุกคน แม้จะเก่งหรือไม่เก่ง
4.อัตราส่วนครูต่อนักเรียนเล็กที่สุด ถัวเฉลี่ย 17:1 (ครู 1 คน นักเรียน 17 คน) สำหรับเกาหลีใต้ 30:1
คำว่า นักเรียนมีคุณภาพ หมายถึง เยาวชนเอาใจใส่เรื่องการเรียน มีวินัย มีคุณธรรม มีอุดมการณ์ แสวงหาอาชีพ พัฒนาตนเอง และเป็นพลเมืองดี
คำว่า ครูสอนเก่ง หมายถึง มีความรู้แน่นและแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มีวิธีถ่ายทอดอย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าเด็กอ่อนหรือเด็กเก่ง จริงใจ จริงจัง รักเด็กและศรัทธาในอาชีพครู
กลุ่มประเทศที่มีผลทางการศึกษาสูงสุดในสิบอันดับแรก คือ อัลเบอร์ตา ออสเตรเลีย เบลเยียม นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ มอนตาริโก ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ล้วนแต่ใช้วิธีพัฒนาครูทั้งสิ้น
อเมริกา ระดมทุนจ้างครูเก่งทุกรูปแบบ แต่ละเมืองตั้งชมรมพัฒนาครูสอนเก่ง เช่น Boston Teacher Residency, New York Teaching Fellows, Chicago Teaching Fellows และรับผิดชอบพัฒนาครูให้กับโรงเรียน
อังกฤษใช้วิชาการตลาดให้นักธุรกิจที่เก่งๆ มาเป็นครู ประเทศที่พัฒนาเขาเน้นเรื่องครูเก่ง เด็กเขาจึงเก่งและดี
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจริงจังกับการคัดคนเก่ง หรือครูสอนเก่ง มาเป็นครู ส่วนการคัดครูใหญ่ต้องรู้เรื่องการสอน บริหารเก่งและซื่อสัตย์
ชนิตร ภู่กาญจน์
ที่มา แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557