พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการจัดเตรียมโครงการนำร่องเพื่อกระจายอำนาจไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนยังไม่สามารถดำเนินการโครงการต่างๆ ได้เองอย่างคล่องตัว เพราะอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง จึงได้มีแนวคิดที่จะปฏิรูปภาคปฏิบัติในลักษณะโครงการนำร่องเพื่อกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาโดยตรง โดยจะเริ่มทดลองใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558เป็นต้นไป ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจะไปเลือกอีก 15 โรงเรียนในเขตพื้นที่ตัวเองที่มีผลการเรียนไม่ดีนักมาเข้าร่วมโครงการ
โดยจะมีการติดตามประเมินผลทุกๆ 3 เดือน และ 6 เดือน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มีความคล่องตัว การเรียนการสอนในโรงเรียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็จะขยายจำนวนเขตพื้นที่และโรงเรียนให้กว้างออกไปอีก ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้เตรียมการเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารจาก 20 เขตพื้นที่การศึกษา การออกคำสั่งต่างๆ เพื่อรองรับรูปแบบการกระจายอำนาจ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรอบกระจายอำนาจ 4 ด้าน คือ
การบริหารจัดการ ต้องการให้ ผอ.สพท. มีสิทธิ์และมีอิสระในการตัดสินใจดูแลสถานศึกษาและโครงการต่างๆ ได้เอง เพื่อให้การบริหารจัดการเขตพื้นที่โดยรวมมีความคล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
งบประมาณ แต่เดิมงบประมาณอยู่ที่ส่วนกลาง ศธ.จึงต้องการมอบอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษาสามารถดูแลและบริหารจัดการงบประมาณได้เองโดยที่ไม่ต้องขอมาที่ส่วนกลางอีก ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละเขตพื้นที่ เพราะเป็นงบประมาณที่แต่ละเขตพื้นที่ได้ตั้งไว้เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ อยู่แล้ว
หลักสูตร ศธ.อาจจะมีหลักสูตรแกนกลางสำหรับจัดการเรียนการสอนในทุกพื้นที่ และจะเปิดโอกาสให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาคิดหลักสูตรเฉพาะของพื้นที่ตัวเอง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น หลักสูตรพื้นที่ของโรงเรียนในภูเก็ตกับโรงเรียนในขอนแก่นก็จะไม่เหมือนกัน เป็นโอกาสที่เขตพื้นที่การศึกษาจะได้คิดเองทำเอง และสถานศึกษาก็จะได้พัฒนาตามลักษณะพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของตัวเองได้มากขึ้น
บุคลากร ในกรณีที่มีอัตรากำลังอยู่แล้ว แต่ไม่มีครูบรรจุ เขตพื้นที่การศึกษาสามารถจัดหาครูหรือจ้างครูมาสอนเองได้ แต่หากไม่มีอัตรากำลัง ยังคงเป็นอำนาจของส่วนกลางที่จะพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังครูลงไป อย่างไรก็ตาม อำนาจการโยกย้ายเป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมี ผอ.สพท.ทำหน้าที่เลขานุการอยู่แล้ว อาจมีการนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หากตกลงกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเชื่อว่าหากทำได้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนของทั้งนักเรียนและครู
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบร่างการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งได้อภิปรายถึงการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาว่า มีการปฏิรูปมาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นการปฏิรูปจากข้างบนลงไปข้างล่าง จึงมีแนวคิดใหม่ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ควรปฏิรูปภาคปฏิบัติโดยเน้นไปที่ตัวนักเรียน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการวัดผลจะวัดจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ไม่ได้วัดว่าครูเก่งขึ้นเพียงใด ดังนั้น การปฏิรูปครั้งนี้จะเน้นไปที่นักเรียน ขึ้นมาที่ครู สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา จนมาถึงกระทรวง อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ศธ.ปฏิรูปในระดับพื้นที่อยู่แล้ว เช่น การกระจายอำนาจ การจัด Coaching team จัด Reform Lab เพื่อให้ความรู้และพัฒนาครูผู้สอนในเชิงพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและระดับเขตพื้นที่การศึกษา
ในส่วนของด้านบนคือ ระดับกระทรวง จะปฏิรูปทั้งในส่วนของโครงสร้าง หลักสูตร บุคลากร ตลอดจนการบริหารจัดการ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปส่วนล่าง ซึ่งหลายเรื่อง ศธ.ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของอาชีวศึกษา สำหรับการปรับโครงสร้างหรือแยกองค์กร เช่น สกอ. หากทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ศธ.ก็จะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำทันที เพราะการปรับโครงสร้างถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย บุคลากร สถานที่ อาจไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีได้