การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เรียนให้รู้และไม่ใช่แค่รู้ที่เรียน แต่ต้องเป็นการตกผลึกจากความเข้าใจภายใน
ยุคนี้หากต้องการหาข้อมูลอะไรสักอย่างหนึ่ง เราเริ่มจากตรงไหน? ถามพ่อแม่ ถามครู ถามเพื่อน ถามคนที่นั่งข้างๆ หรือถามผู้รู้? แล้วถ้าไม่มีใครให้ถาม...เราจะทำอย่างไร?
แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งสำหรับใครหลายๆ คนในยุคที่การค้นคว้าเกิดขึ้นได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส คงหนีไม่พ้น “Google” ข้อมูลมหาศาลหลั่งไหลมาให้เลือกภายในเสี้ยววินาที ว่าไปแล้วสำหรับผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีการเรียนรู้ในห้องเรียนอาจกลายเป็นโลกแคบไปถนัดตา เมื่อเป็นเช่นนี้บทบาทของ “ครู” ที่เคยเป็นผู้ป้อนความรู้แค่ในตำราให้นักเรียนคงไม่เพียงพออีกต่อไป
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้เชียวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพครู แบ่งปันมุมคิด “การเรียนรู้” ว่า การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เรียนให้รู้และไม่ใช่แค่รู้ที่เรียน แต่ต้องเป็นการตกผลึกจากความเข้าใจภายในตัวของผู้เรียน ซึ่งการเรียนรู้ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยตนเองจนเกิดปัญญา
“การเรียนไม่ใช่การท่องจำแบบอาขยานอีกต่อไป ครูเป็นผู้รู้ปลายทางของคำตอบอย่างกระจ่าง แต่ต้องไม่เป็นผู้บอกคำตอบ บทบาทของครูคือการเป็นผู้ตั้งคำถามให้เด็กคิดแล้วตอบคำถามไปเรื่อยๆ แล้วประเมินอย่างฉับพลันว่าเด็กรู้อะไรไม่รู้อะไรหรือเข้าใจอะไรผิด เปลี่ยนคำถามใหม่เพื่อพาเด็กไปสู่ปลายทาง โดยมีเป้าหมายให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองจากการคิด เรียกว่า การถามต้อนความคิด ซึ่งความคิดเชิงเหตุและผลสำคัญมาก หากแก้ความเชื่อเรื่องเหตุและผลแบบผิดๆ ไม่ได้ ครูจะไม่สามารถสร้างสรรค์กระบวนที่มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนานักเรียนได้”
เช่นเดียวกับ “ค่ายครูพันธุ์วิจัย ประกวดโครงงานวิจัยด้านพลังงาน” ที่จัดขึ้นโดย กลุ่ม ปตท. เมื่อวันที่ 22-25 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาอยากให้ “เด็กไทยคิดได้ ทำเป็น” กลุ่ม ปตท. จึงจัดกิจกรรมอบรบเชิงปฏิบัติการเทคนิคการทำวิจัยให้คณะครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์จาก 14 โรงเรียนในจังหวัดระยอง เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนด้วยกระบวนการวิจัย
เดชา บุญวรรณ์ ผู้จัดการส่วนสื่อสารและกิจการเพื่อสังคมพื้นที่ระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เชื่อว่าเด็กจะมีความรู้ความเข้าใจและสามารถคิดอย่างเป็นระบบได้ต้องมี “ครู” คอยชี้แนะอย่างถูกวิธี
“โครงการครูพันธุ์วิจัยต้องการหนุนเสริมแนวทางการเรียนรู้ให้นักเรียน โดยพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกระบวนการวิจัย แล้วพัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการสอนและประยุกต์เทคนิคการสอน เพื่อนำไปใช้
ประโยชน์ต่อการสอนโครงงานวิจัยด้านพลังงานให้นักเรียนได้อย่างบูรณาการและก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริง กระบวนการทั้งหมดนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้เด็กพัฒนาความคิดได้ด้วยตนเองแล้ว ยังกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปได้ในอนาคต”
จุดเด่นของค่ายครูพันธุ์วิจัยฯ อยู่ที่การอบรมเพื่อเปลี่ยนทัศนคติครูจาก “ผู้บอก” หรือผู้ป้อนความรู้ให้เป็น “ผู้ถาม” เรียกว่า “ถามคือสอน” เพื่อชี้ชวนให้นักเรียนเกิดความสนใจ คิดตาม แล้วแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จุดหมายปลายทางของโครงการต้องการให้ “ครู” ผู้เข้ารับการอบรมสวมบทบาทเป็น “โค้ช” (coach) ให้กับนักเรียน เพื่อรวมกลุ่มทำงานวิจัย แล้วเฟ้นหาสุดยอดโครงงานวิจัยด้านพลังงานที่เป็นไปได้และเป็นประโยชน์มากที่สุด
รศ.ดร.สุธีระ บอกหนึ่งในแนวทางพัฒนาเด็กให้เร็วขึ้นและไม่ต้องลงทุนอะไร ด้วยการให้เด็กรวมกลุ่มมีส่วนร่วมในการคิดและวิเคราะห์ร่วมกัน เช่นเดียวกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการที่ครูได้ลงมือทำในค่ายครูพันธุ์ใหม่ เมื่อทำจึงเกิดการเรียนรู้ เข้าใจไปถึงต้นทางของเหตุและผลที่แท้จริง จนเกิดปัญญา เมื่อนั้น ครูจะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ได้เอง เด็กก็เช่นเดียวกัน
“การทำการศึกษาเพื่อเปลี่ยนเด็ก โครงงานเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยทำให้เด็กเปลี่ยนแปลง เป้าหมายที่เราจะวัดคือความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการคิดของเด็กแต่ละคน ไม่ใช่คะแนนสอบ ยิ่งเด็กที่มีพื้นฐานต่ำครูยิ่งสามารถช่วยหนุนเสริมขึ้นมาได้อย่างก้าวกระโดด แล้วคนแรกที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กคือผู้ปกครอง เมื่อผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวก ผู้ปกครองกับชุมชนจะเข้ามาให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเอง”
รศ.ดร.สุธีระ ยังกล่าวอีกว่า ครูต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าการศึกษาไม่ใช่การค้ามนุษย์ที่ครูคิดโครงงานทุกอย่างขึ้นมาเพื่อใช้แรงงานเด็กทำ ผลสุดท้ายผลงานไม่ได้ตกเป็นของเด็กเพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
ด้านครูผู้เข้าอบรม เอกราช นวศรีพงศ์ โรงเรียนระยองวิทยาคมนิคมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ค่ายครูพันธุ์วิจัยเปลี่ยนทัศนคติที่ตนมีต่อการจัดการเรียนรู้ จากเดิมคิดว่ากระบวนการสอนของตนฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดมากพอสมควร แต่เมื่อได้เรียนรู้จากการอบรมทำให้พบว่าการสอนของตนยังไม่สามารถกระตุ้นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุและผลของเด็กได้
“ความรู้และเทคนิคที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้สามารถนำไปปรับให้นักเรียนฝึกทักษะจากกระบวนการคิดมากขึ้น สามารถพัฒนาความรู้ความจำมาเป็นความเข้าใจและนำไปสู่การเกิดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ได้ ส่วนครูต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งกว่าเดิม เพื่อจะได้เป็นโค้ชที่ดีให้นักเรียนได้อีกทางหนึ่ง”
ส่วน คาวี สุนทรโอวาท โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา เห็นด้วยว่า ที่ผ่านมากระบวนการศึกษาของไทยมีแค่ความรู้ แต่ยังขาดเครื่องมือที่จะสร้างให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น การช่วยให้เด็กมีกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาความรู้ได้ตัวเองจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเด็กโดยตรง
เช่นเดียวกับ สุปราณี กิตติวรเชษฏฐ์ โรงเรียนระยองวิทยาคมปากน้ำ สะท้อนว่า “ค่ายครูพันธุ์ใหม่” ทำให้เธอฉุกคิด “ครูควรจะเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่เด็กเรียนมาสามารถทำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ถ้าครูไม่สามารถโค้ชเด็กได้ เด็กจะไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนไปใช้ทำประโยชน์อะไรได้เลยแม้แต่การประกอบอาชีพ เพราะเด็กเรียนไปแล้วคิดไม่ได้ทำอะไรเป็น หากครูทุกคนช่วยกระตุ้นให้นักเรียนคิด สร้างสรรค์โครงงานด้านพลังงานที่เป็นไปได้ขึ้นมา ผลงานของนักเรียนเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการดูแลจัดการพลังงานในอนาคตได้”
การศึกษาแบบไร้รั้ว เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดและลงมือปฏิบัติเอง เป็นการสร้างการเรียนรู้ที่มีค่า เพราะผลลัพธ์ของการเรียนรู้นี้มีมากกว่าแค่การจดจำเพื่อนำไปตอบคำถามในห้องสอบ แต่เป็นการฝึกฝนทักษะชีวิตที่สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้แก่ตัวผู้เรียนเอง เพื่อให้นักเรียนสามารถออกไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกได้อย่างผู้มีปัญญาที่ “คิดได้ ทำเป็น”
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com