เมื่อเทคโนโลยีล้างสมองเด็ก อะไรจะเกิดขึ้น?
เด็กใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด และการยึดติดเป็นแฟชั่น ผลเสียจึงมีมากกว่าผลดี
เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคม ผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเองให้เท่าทันกับเทคโนโลยี ดูผิวเผินอาจจะมองว่าการมีเทคโนโลยีใช้อาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมสะท้อนกลับ ผลของการมีเทคโนโลยีก็สร้างผลเสียให้แก่สังคมได้ไม่น้อยไปกว่ากัน
จากข่าวฮือฮากันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกมาโพสต์ข้อมูลถึงพฤติกรรมของเด็กสาววัยรุ่นตอนต้น ได้เสนอตัวกับเจ้าของร้านโทรศัพท์เพื่อแลกกับสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด โดยเจ้าตัวไม่ได้นึกถึงสถานภาพของตัวเองที่ยังคงเป็นผู้เยาว์ อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปกครอง และคาดว่าเจ้าตัวคงไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง
ด้วยพฤติกรรมฉาวของเด็กสาวรายนี้ ยังเป็นตัวสะท้อนถึงทัศนคติ ความคิดของวัยรุ่นหญิงในสังคมไทยปัจจุบัน ที่เริ่มออกนอกกรอบมากขึ้น ไม่รักนวลสงวนตัวเหมือนคนรุ่นก่อน ๆ กล่าวคือ เด็กสาวสมัยนี้นิยมรักสนุกท้าทาย เริ่มลองผิดลองถูกตามเพื่อนฝูงมากขึ้น บางครั้งก็ยอมเสียตัวตั้งแต่วัยรุ่นกับเพื่อต่างเพศที่ตัวเองคิดว่ารักจริง ในขณะที่มองข้ามถึงสถานะของตัวเองที่ยังเป็นเพียงแค่เยาวชน
ส่วนการใช้เทคโนโลยี การติดสินค้าแบรนด์เนมสำหรับเด็กสาววัยรุ่น ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่อยากได้อยากมีกับสิ่งของสวย ๆ งาม ๆ แต่ผลลัพธ์การใช้เทคโนโลยีในยุคนี้ ทำให้เด็กมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น แสดงอารมณ์ออกได้ง่าย บางครั้งยังทำให้เด็กมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และเด็กยังมีความเข้าใจว่า การใช้ การเล่นอินเทอร์เน็ตสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่กลัวการถูกเผยแพร่แชร์ต่อ อย่างชัดเจนที่สุดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เด็กวัยรุ่นน้อยคนนักที่ใส่ใจในเรื่องนี้
ประกอบกับสถาบันครอบครัว คนในสังคมอาจจะกล่าวโทษพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกของตัวเองไม่ดี อย่างในกรณีของเด็กสาวรายนี้ ในโลกไซเบอร์ต่างว่ากล่าวถึงพ่อแม่ หรือครอบครัวของเด็กในทางที่เสียหาย แต่ไม่ได้มองถึงปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสังคมนอกบ้านของเด็ก หรือ พฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนที่เด็กสาวรายนี้ได้แสดงออกมาอย่างชัดแจ้ง ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สินค้ามาครอบครอง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่
ในเรื่องนี้คงไม่ใช่การถกเถียงถึงปัญหาวัยรุ่น หรือปัญหาครอบครัวอีกต่อไป แต่ยังต้องพูดถึงปัญหาการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตคนในสังคมมากเกินไป การปลูกฝังถึงการใช้สินค้าที่ฟุ่มเฟือย ความจำเป็นของการใช้งาน ต้องมีการละลายพฤติกรรมการติดแฟชั่น การตามเทรนด์ความนิยม ซึ่งหลายคนยังมองว่าถ้าล้าหลังยังเป็นเรื่องผิด เพราะทุก ๆ ปีสินค้าไอทีเหล่านี้มีการพัฒนาให้แตกต่างและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องหาแรงจูงใจผู้บริโภคด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยไม่ได้สนใจผลลัพธ์หรือประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างยั่งยืน
ดั้งนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กสาวรายนี้ยอมลงทุนแลกตัวกับคนแปลกหน้า เพียงเพราะอยากให้ตัวเองเป็นคนที่ทันสมัย อินเทรนด์ และสังคมรอบข้างยอมรับ ในวิธีการแบบผิด ๆ โดยหารู้ไม่ว่าตัวเองถูกล้างสมองไปเรียบร้อยแล้วจากผู้คิดค้นนวัตกรรมที่ไม่ได้ใส่ใจถึงเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค นอกจากผลประกอบการและกำไรของตัวเอง
@Noom_DN
เดลินิวส์ออนไลน์
ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ 14 พฤศจิกายน 2557