ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

แบบเรียนที่ไม่ได้มีไว้เลียนแบบ : นิ้วกลม


บทความการศึกษา 12 พ.ย. 2557 เวลา 09:11 น. เปิดอ่าน : 10,132 ครั้ง
Advertisement

แบบเรียนที่ไม่ได้มีไว้เลียนแบบ : นิ้วกลม

Advertisement

นิ้วกลม: แบบเรียนที่ไม่ได้มีไว้เลียนแบบ

หนึ่งคำถามล้านคำตอบ

มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 พฤศจิกายน 2557




1 ป้ายค่านิยม 12 ประการติดหราไว้หน้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง เหลือบไปเห็นขณะขับรถผ่านระหว่างเดินทางไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ไม่แน่ใจว่านักเรียนจะต้องท่องให้คุณครูฟังก่อนก้าวเท้าเข้าโรงเรียนหรือเปล่า

ค่านิยมในป้ายหลายข้อนั้นดูดีเป็นเรื่องที่น่าปฏิบัติตาม คำถามคือเด็กๆ จะปฏิบัติตามผ่านการท่องจำเหมือนท่องสูตรคูณอย่างนั้นจริงหรือ และถ้าเด็กนักเรียนมีข้อสงสัยในบางข้อ เขามีสิทธิถามครูก่อนท่องจำไหม เช่น "เจ็ด เรียนรู้อธิปไตยของประชา แปด รักษาวินัย กฎหมายไทย" แล้วการทำรัฐประหารถือเป็นการปฏิบัติตามค่านิยมสองข้อนี้ไหมครับครู

ครูคงบอกว่า "ท่องไปก่อนนะนักเรียน นี่ยังไม่ใช่เวลาของการตั้งคำถาม"



2 สิ่งใหม่ที่ผุดขึ้นมาในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติและงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในช่วงสองปีมานี้คือ นิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงาน ซึ่งจัดได้อย่างสวยงาม เข้มข้น และน่าสนใจทุกครั้ง

ครั้งล่าสุดเป็นนิทรรศการเรื่อง "ระลึกชาติในแบบเรียน"

เนื้อหาของนิทรรศการนั้นไล่เรียงเรื่องราวของแบบเรียนมาตั้งแต่แบบเรียนเล่มแรกมาจนกระทั่งถึงแบบเรียนเล่มล่าสุด ตั้งแต่แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้แต่ง แบบเรียนคดีธรรม สมบัติผู้ดี ดรุณศึกษา พ่อหลีพี่หนูหล่อ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม เรณู ปัญญา ในยุค จอมพล ป. นิทานร้อยบรรทัด ไล่มาถึงยุคมานี ชูใจ เปลี่ยนมาเป็นกล้า แก้ว และแบบเรียนชุดภาษา พาที ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อไล่เรียงแบบเรียนเคียงคู่ไปกับสถานการณ์บ้านเมืองและการเมืองของแต่ละยุค เราจะสังเกตได้เลยว่า แบบเรียนในแต่ละสมัยนั้นมีเจตนารมณ์บางอย่างสอดประสานอยู่ในนั้นเสมอ

ผู้ใหญ่ทั้งหลายนิยมเปรียบเด็กน้อยเป็นผ้าขาวที่สามารถใส่เรื่องราวอะไรก็ได้เข้าไปในหัว อยากให้พวกเขามีลวดลายอย่างไร อยากย้อมสีอะไรใส่เข้าไปก็ต้องเริ่มทำในวัยเด็ก แบบเรียนดูเหมือนจะเป็นความพยายาม "ย้อมผ้าขาว" ของผู้ใหญ่ที่เป็นรูปธรรม

แบบเรียนจึงเปลี่ยนไปตามผู้ปกครองที่ขึ้นมามีอำนาจ รวมถึงสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้น

ในสมัยเริ่มต้นของการศึกษา การเรียนการสอนในยุคแรกนั้นมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลก เช่น การปฏิวัติในอิหร่านและตุรกี การปฏิวัติในโปรตุเกส และเหตุการณ์สำคัญที่สุดคือการล้มราชวงศ์แมนจู เพื่อสร้างสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดแนวคิดชาตินิยมของคนจีนในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านั้น ซุนยัตเซน ผู้นำในการปฏิวัติจีนได้เดินทางมาประเทศไทยถึง 4 ครั้ง ด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้เองจึงทำให้เกิดการศึกษาเพื่อปลูกฝังความรักชาติและสร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

อุดมการณ์ที่ได้รับการตอกย้ำในแบบเรียนช่วงนี้คือ ความรักชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และยึดมั่นในพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเป็นชาตินั่นเอง

พอมาถึงยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้ปรับปรุงแผนการศึกษา มีวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ซึ่งสอนให้รู้จักสิทธิหน้าที่ของพลเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน้าที่อันพึงมีต่อสาธารณะ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ว่า "ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย"

แล้วหลักสูตรก็ได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง ใน พ.ศ.2490 หลังจากประเทศได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ แบบเรียนในยุคนี้จะเน้น "ชาติไทย" และนักเรียนก็เริ่มมีการยืนตรงเคารพธงชาติกันตั้งแต่ในยุคนี้

พอมาถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมุ่งสร้างพลเมืองที่ภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มุ่งเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติมากกว่าเสรีภาพส่วนบุคคลจึงได้มีการตัดหน้าที่ในการเคารพรัฐธรรมนูญออกไปจากแบบเรียน

มาถึงแบบเรียนในยุคของผม "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" (และเจ้าโต) เป็นแบบเรียนที่เกิดขึ้นในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519

แบบเรียนชุดนี้นำเสนอจินตภาพของชาติเหมือนหมู่บ้านขนาดเล็ก ซึ่งมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากศีลธรรมเสื่อมทราม เช่น ปัญหาการตัดไม้เพราะความโลภของนายทุนบางคน การดำเนินชีวิตของตัวละครซึ่งเป็นคนดี

ในแบบเรียนชุดนี้จะมีความรักชาติบ้านเมืองเป็นแรงผลักสำคัญอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ถูกลืมหรือมิได้ถูกกล่าวถึงก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างและความซับซ้อนของปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีแค่ปลูกฝังศีลธรรมให้ทุกคนเป็นคนดีเท่านั้น

แน่นอนว่าการพูดถึงปัญหาในมิตินั้นอาจจะยากเกินความเข้าใจของนักเรียนในวัยเด็ก แต่การไม่ชี้ชวนให้เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเลยก็อาจหล่อหลอมให้นักเรียนที่โตมากับแบบเรียนนี้มองเห็นวิธีแก้ปัญหาเป็นเพียงแค่เรื่องที่คนดี-คนชั่วต้องต่อสู้กันเท่านั้น ทั้งที่ปัญหาในความเป็นจริงนั้นสลับซับซ้อนกว่ามาก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยตรัสไว้ว่า "รัฐมีอำนาจที่จะตกแต่งนิไสยใจคอไพร่บ้านพลเมืองได้ด้วยแต่งหนังสือสำหรับสอนเด็ก...ประโยชน์ของการแต่งหนังสือจึงไม่แพงเลย"

จากวันนั้นถึงวันนี้ "การตกแต่งนิสัยใจคอ" ของพลเมืองยังคงถูกกระทำผ่านแบบเรียนต่อเนื่องกันมาโดยตลอด โดยเปลี่ยนแปลงเนื้อหากันไปตามยุคสมัยและสถานการณ์

คำถามก็คือ เมื่อโลกเดินทางมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์ที่ชีวิตสลับซับซ้อนมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้าหูตาของผู้คนและนักเรียนมากมายราวกับเขื่อนแตก เส้นแบ่งเขตแดนของแต่ละประเทศเริ่มพร่าเลือน ประชากรประเทศนั้นย้ายมาทำงานในประเทศนี้ ประเทศนี้ไปประเทศนู้น เสรีภาพในการสื่อสารมีมากขึ้น คำถามจำนวนมากถูกส่งเสียงลอยอยู่ในอากาศ แบบเรียนที่เน้นการปลูกฝังค่านิยมในแบบเดิมๆ จะยังคง "เวิร์ก" อยู่หรือไม่?



ในยุคสมัยที่แค่นั่งอยู่เฉยๆ ข้อมูลและความรู้ก็พุ่งเข้าลูกกะตา อยากรู้อะไรก็กระดิกนิ้วหาจากกูเกิลเช่นนี้ หากครูยังทำหน้าที่เป็นผู้มอบความรู้ และใช้แบบเรียนเป็นคัมภีร์ที่บรรจุความจริงแท้ที่ทุกคนต้องท่องจำและปฏิบัติตาม ก็มีสิทธิอย่างมากที่ผู้เรียนจะรู้สึกว่า สิ่งที่ครูสอนนั้นแคบกว่าสิ่งที่เขาพบเจอในชีวิตประจำวัน

ครูในยุคนี้จึงมิใช่ "ผู้ให้ความรู้" อีกต่อไป แต่น่าจะเป็น "ผู้สอนวิธีหาความรู้" แก่เด็กนักเรียน (เพราะความรู้นั้นหาได้ทุกที่) นอกจากนั้นครูเองอาจต้องแปลงร่างเป็นเด็กนักเรียนในบางเรื่อง เมื่อนักเรียนไปหาความรู้ที่ครูไม่เคยรู้มาบอกกับครู

โรงเรียนจึงมิใช่สถานที่ "ให้ความรู้" หรือปลูกฝังความรู้อีกต่อไป แต่เป็นสถานที่ที่สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ทุกคนในโรงเรียนเป็นคนที่รักการเรียนรู้ เป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็นนักเรียนหรือครู เหมือนที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกว่า "เราไม่สามารถมีคนเพียงนิดเดียวมีอาชีพเป็นครูได้อีกแล้ว ทุกคนต้องเป็นครูให้ตัวเองและเป็นครูให้แก่กันและกัน"

สังคมอุดมความรู้และปัญญาจึงเป็นสังคมที่ทุกคนมีทักษะของความเป็นครู และยินดีจะเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลา เป็นสังคมแห่งการกระตุกให้คิด ให้ตั้งคำถาม หมั่นหาคำตอบด้วยตัวเอง แบ่งปันความคิดและความรู้แก่กันและกัน รับฟังแง่มุมที่แตกต่าง และเรียนรู้จากกันและกันอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

เสียงในสังคมเช่นนี้อาจจะเจี๊ยวจ๊าว ต่างจากการประสานเสียงท่องจำสิ่งที่ครูบอกเป็นเสียงเดียวกัน แต่แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเจี๊ยวจ๊าวนั้นคือปัญญาที่เกิดจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งยังกลั่นออกมาจากการขบคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง

บรรยากาศการเรียนรู้ในสังคมเช่นนี้ ย่อมมิได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของครูหรือแบบเรียนที่เน้นให้ท่องจำและทำตาม มิได้เป็นการเรียนที่อยู่กับความกลัวครู กลัวผิด ไม่กล้าคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าคิดแตกต่าง ขาดความมั่นใจในเหตุผลของตนเอง สังคมที่ทุกคนมีวิธีหาความรู้ด้วยตัวเองย่อมเปิดกว้างต่อความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เพราะทุกครั้งที่ได้รับฟังความคิดที่แตกต่างเหล่านั้นก็เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง ต่างจากการเรียนที่ต้องฟังครูคนเดียว คิดอะไรต่างจากครูย่อมมีสิทธิจะถูกกากบาทสีแดงลงบนกระดาษคำตอบ

หากอยากสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เช่นนี้ขึ้น เราจะออกแบบแบบเรียนและการเรียนการสอนกันอย่างไร



4 ระหว่างที่เด็กนักเรียนของเรากำลังท่องจำค่านิยม 12 ประการ ประเทศสิงคโปร์ได้กำหนดวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาเพื่อเตรียมประเทศให้พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อชาติว่า ให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนนักคิด ให้ประเทศเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ โดยจะสร้างทักษะชีวิตที่สำคัญ คือ การคิด การสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การทำงานร่วมกัน ความสนใจใคร่รู้แก่นักเรียน รวมทั้งจะปลูกฝังความคิดเรื่องนวัตกรรมและความกระหายสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่งคั่งส่วนบุคคลและประเทศโดยรวม

วิสัยทัศน์เพื่อชาติของเขาคือ การคิดและการเรียนรู้

ส่วนวิสัยทัศน์ด้านการศึกษานั้น สิงคโปร์กำลังเน้นให้ "สอนน้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น" โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องสอน

วิธีการคือ ให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่การกำหนดโจทย์ สิ่งที่อยากเรียน ขณะที่ครูพูดให้น้อยลง สอนแบบป้อนความรู้ให้น้อยลง สื่อสารทางเดียวให้น้อยลง แบบเรียนจึงไม่ใช่แบบเรียนตายตัวเพียงแบบเดียว แต่สื่ออื่นๆ นอกห้องเรียนล้วนแล้วแต่เป็นสื่อประกอบการเรียนได้ทั้งสิ้น

นักเรียนจึงเป็นนักเรียนที่เป็นฝ่ายกระทำ (active) ไม่ใช่ฝ่ายถูกกระทำ (passive)

การเรียนจึงกลายเป็นเรื่องสนุก เพราะเขามีส่วนในการสอนด้วย ครูใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแนะแนวทางเพื่อให้นักเรียนไปหาความรู้ด้วยตัวเอง และนำมาวิเคราะห์ขบคิดเป็นความรู้ใหม่ด้วยตัวเอง

และนี่คือทักษะของนักเรียนศตวรรษที่ 21

เราไม่ได้ต้องการนักเรียนเชื่องๆ ท่องจำสิ่งที่ครูอยากให้ท่องได้ทั้งหมด หรือทำตามที่ครูและแบบเรียนบอกทุกกระเบียดนิ้ว การแข่งขันในโลกยุคใหม่นั้นต้องการนักเรียนที่มีชีวิตชีวา กระตือรือร้น รู้จักตั้งคำถามที่ท้าทาย หาคำตอบได้ด้วยตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง รักที่จะเรียนรู้จากความหลากหลาย นอกจากรู้จักแสดงความคิดเห็นแล้วยังรู้จักรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีหัวใจที่เคารพความแตกต่างหลากหลายของคนอื่นอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการท่องจำค่านิยมว่า "เด็กดีต้องรู้จักตั้งคำถามท้าทาย ขวนขวายหาคำตอบด้วยตัวเอง ครื้นเครงกับความหลากหลาย มิวายรับฟังคนอื่น รู้ตื่นเรื่องประชาธิปไตย" หรืออะไรทำนองนี้

ตรงกันข้าม ทักษะของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 อาจเริ่มต้นจากการมานั่งวิเคราะห์ "ค่านิยม 12 ประการ" ของท่านผู้นำก็เป็นได้

 


 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขายดีมากครับคุณครู (พร้อมส่ง) เครื่องเคลือบบัตรA4 รุ่นSL200 เครื่องเคลือบกระดาษA4 A3 A5 ABSป้องกันการ์ด ในราคา ฿368 - ฿999 ที่ Shopee

https://s.shopee.co.th/4VLvxbi7ho?share_channel_code=6


แบบเรียนที่ไม่ได้มีไว้เลียนแบบ : นิ้วกลมแบบเรียนที่ไม่ได้มีไว้เลียนแบบ:นิ้วกลม

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

ซูปเปอร์ไฮเวย์การศึกษา

ซูปเปอร์ไฮเวย์การศึกษา


เปิดอ่าน 7,492 ครั้ง
การศึกษาในอนาคต

การศึกษาในอนาคต


เปิดอ่าน 21,147 ครั้ง
การศึกษาไทย 2.0

การศึกษาไทย 2.0


เปิดอ่าน 13,072 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

กก.อิสระปฏิรูปการศึกษาช่วยที : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

กก.อิสระปฏิรูปการศึกษาช่วยที : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เปิดอ่าน 7,285 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
การศึกษาไทย...ไปถึงไหนแล้ว?? ผู้เขียน สหัส แก้วยัง
การศึกษาไทย...ไปถึงไหนแล้ว?? ผู้เขียน สหัส แก้วยัง
เปิดอ่าน 51,455 ☕ คลิกอ่านเลย

ปฏิรูปการศึกษานับหนึ่งใครเป็นใคร
ปฏิรูปการศึกษานับหนึ่งใครเป็นใคร
เปิดอ่าน 12,470 ☕ คลิกอ่านเลย

การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อการศึกษาคุณภาพ : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อการศึกษาคุณภาพ : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
เปิดอ่าน 30,432 ☕ คลิกอ่านเลย

เรื่องของวันหยุดยาวในเดือนเมษายน กับการเปิด-ปิดเทอมของมหาวิทยาลัย
เรื่องของวันหยุดยาวในเดือนเมษายน กับการเปิด-ปิดเทอมของมหาวิทยาลัย
เปิดอ่าน 14,244 ☕ คลิกอ่านเลย

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 รร.ต้องร่างหลักสูตรให้เด็กเป็นผู้บริหาร
การศึกษาในศตวรรษที่ 21 รร.ต้องร่างหลักสูตรให้เด็กเป็นผู้บริหาร
เปิดอ่าน 8,189 ☕ คลิกอ่านเลย

ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)
ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)
เปิดอ่าน 12,519 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ร่มไม้เท้า สินค้ากันฝนอเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ
ร่มไม้เท้า สินค้ากันฝนอเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ
เปิดอ่าน 1,170 ครั้ง

น้องอันดา ควีโยมี น่ารักสุดๆไปเลย
น้องอันดา ควีโยมี น่ารักสุดๆไปเลย
เปิดอ่าน 20,031 ครั้ง

การวัดอุณหภูมิของอากาศ
การวัดอุณหภูมิของอากาศ
เปิดอ่าน 24,438 ครั้ง

เมื่อเทคโนโลยีล้างสมองเด็ก อะไรจะเกิดขึ้น?
เมื่อเทคโนโลยีล้างสมองเด็ก อะไรจะเกิดขึ้น?
เปิดอ่าน 21,905 ครั้ง

ภัยร้ายจากควันบุหรี่
ภัยร้ายจากควันบุหรี่
เปิดอ่าน 12,909 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ