ก.ค.ศ.อนุมัติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.
พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 11/2557 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ว่าที่ประชุมได้อนุมัติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.
เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการประกาศตำแหน่งว่างในปัจจุบัน และจำนวนที่คาดว่าจะว่างหลังจากการเกษียณอายุราชการใน 2 ปีงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนตำแหน่งที่คาดว่าจะว่างได้อย่างถูกต้อง และเมื่อมีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการสรรหา เรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อยเท่ากับจำนวนตำแหน่งว่างในปัจจุบันและจำนวนตำแหน่งที่คาดว่าจะว่างทำให้ผู้สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ร้องขอขึ้นบัญชีเป็นผู้ผ่านเกณฑ์ และฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
ที่ประชุมในครั้งนี้ จึงได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติดังนี้
- มอบอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
- การคัดเลือกแบ่งเป็นกลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์
- กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ตามมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ ว17 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2557
- ให้ สพฐ.กำหนดวันและเวลาในการดำเนินการคัดเลือกพร้อมกัน โดยผู้สมัครสามารถเลือกสมัครได้ทุกสังกัด
- การประกาศตำแหน่งว่างและการรับสมัคร ให้ประกาศจำนวนตำแหน่งว่างในปัจจุบัน ตามสัดส่วนที่เท่ากัน
- หลักสูตรการประเมิน ให้มีการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ทั้งกลุ่มทั่วไปและกลุ่มประสบการณ์ รวมทั้งเพิ่มการสอบวิชาภาษาอังกฤษและการสร้างค่านิยมของคนไทย 12 ประการ โดย สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการสอบภาค ก และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จัดสอบภาค ข และภาค ค
- การขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์การตัดสินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เรียงลำดับที่ตามผลคะแนนจากมากไปหาน้อย
ส่วนวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้หลักเกณฑ์ฯ เดียวกันกับหลักเกณฑ์ฯ ในพื้นที่ทั่วไป แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติสามารถมาสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้โดยไม่จำกัดเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเงื่อนไขในการบรรจุและแต่งตั้ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพื้นที่ได้ โดยจะนำเหตุแห่งความไม่สงบมาใช้เป็นเหตุผลในการขอย้ายก่อนกำหนดไม่ได้
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ