จากกรณีโลกโซเชียลมีเดียมีการแชร์ รูปตู้ทำน้ำเย็นของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเดินสายดินด้วยการตัดขวดน้ำดื่มใส่ดินวางไว้บนพื้นปูน แล้วนำสายดินไปปักไว้ในขวดแทนการติดตั้งสายดินแบบปกติ โดยมีผู้กล่าวอ้างว่าสามารถใช้งานได้จริง เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาหน้างานของวิศวกร จนเกิดเป็นข้อโต้เถียงถึงความปลอดภัย เนื่องจากตู้ทำน้ำเย็นดังกล่าว เป็นตู้ทำน้ำเย็นที่ติดตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งยังมีผู้ใช้งานหลากหลายตลอดวัน และเหตุการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมา
นายนริศ สุธีธร ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมไฟฟ้าและระบบควบคุม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ เดลินิวส์ออนไลน์ ว่า วิธีการติดตั้งสายดินปักขวดดังกล่าว เป็นวิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวในระดับหนึ่ง สามารถป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วในปริมาณเล็กน้อยได้ แต่ยังไม่มีความแข็งแรงและความปลอดภัยเพียงพอที่จะนำมาใช้งานจริง วิธีการดังกล่าวจึงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการติดตั้งสายดินแบบปกติจากผู้เชี่ยวชาญได้ อีกทั้ง การติดตั้งสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว ควรติดตั้งอย่างถูกวิธีโดยผู้เชี่ยวชาญ คือ ช่างไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยและไม่ประมาท นอกจากนี้ การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทสามารถเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเต้าเสียบชนิด 3 ขา เพราะมี 1 ขาเป็นสายดินติดตั้งอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การติดตั้งสายดิน มีไว้เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้า โดยปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต้องมีการต่อลงดิน ส่วนปลายอีกด้านจะต่อเข้ากับวัตถุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่าพื้นดิน ซึ่งสายดินจะป้องกันไม่ให้มีผู้ถูกไฟฟ้าดูดเมื่อมีไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่รั่วจะไหลลงดินผ่านทางสายดินแทนที่จะไหลผ่านร่างกาย นอกจากนี้ สายดินยังช่วยทำให้เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติตัดไฟออกทันทีเมื่อเกิดไฟรั่ว
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรติดตั้งสายดินอย่างถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
จอมสุดา
@chom_dn
เดลินิวส์ออนไลน์
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคาร 4 พฤศจิกายน 2557