สำคัญที่ผู้สอน (ครู, อาจารย์)
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์
ระดับการศึกษาไทยที่เป็นระบบระเบียบแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือระดับปฐมวัยศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา
ในแต่ละระดับยังแบ่งออกเป็นระดับละ 2 ส่วน
ระดับปฐมวัยศึกษา แบ่งเป็นเด็กเล็ก หรือก่อนปฐมวัย และอนุบาล
ระดับประถมศึกษา แบ่งเป็นประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย
ระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
ระดับอุดมศึกษา แบ่งเป็นก่อนปริญญาตรี และหลังปริญญาตรี รวมไปถึงบัณฑิตศึกษา
นอกจากนั้นยังมีอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทั้งยังแบ่งเป็นระดับใหญ่ได้ 2 ระดับ คือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา
เมื่อก่อนมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักจัดการศึกษาของชาติ ต่อมาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือกระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัยจัดการศึกษาขั้นอุดม ศึกษา
ต่อมามีการรวมการศึกษาเป็นหนึ่งเดียวกลับไปเป็นกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งระดับการศึกษาออกเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา
วันนี้มีแนวความคิดจะกลับไปให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แยกการอุดมศึกษาออกมาเป็น กระทรวงหรือทบวงอย่างเดิม แล้วให้จัดระดับอุดมศึกษาทั้งหมด
การศึกษาแต่ละระดับมีการเรียนการสอนแตกต่างกัน ทั้งจากวัยของผู้เรียน วิธีการสอน และวิธีการเรียน
ขณะเดียวกัน ผู้สอนทั้งที่เรียกเป็น "ครู" เป็น "อาจารย์" ยังมีความแตกต่างกันในระดับการเรียนการสอน และการเรียนเพื่อให้ออกมาเป็นครูและเป็นอาจารย์
วันนี้อาชีพผู้สอนต้องสำเร็จระดับปริญญาตรี และต้องตรงตามระดับที่สอน เช่นปฐมวัยศึกษา และเด็กเล็กก่อนวัยเรียนต้องสำเร็จปริญญาตรีปฐมวัยศึกษา เช่นเดียวกับประถมศึกษา เพราะทั้งปฐมวัยศึกษาและประถมศึกษาจะให้ไปสอนนักเรียนระดับ มัธยมศึกษาลำบาก เพราะครูผู้สอนปฐมวัยศึกษาและประถมศึกษาต้องสอนทุกวิชา ทั้งยังต้องเป็นครูประจำชั้น ยิ่งเป็นครูปฐมวัยศึกษาต้องเรียนวิชาเพิ่มเติมอีกหลายวิชา เช่น วิชาจิตวิทยาเด็ก วิชาการดูแลเด็กเล็ก เป็นต้น
ส่วนครูชั้นมัธยมศึกษาต้องสำเร็จวิชาเอก เช่น วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ต้องแบ่งออกเป็นรายวิชา เช่น เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ หรือกลศาสตร์ ประวัติศาสตร์
ผู้ที่จะสอนมัธยมศึกษายังต้องเป็นผู้ชำนาญหรือเชี่ยวชาญในวิชานั้นเป็นหลัก ทั้งยังต้องสอนในเบื้องต้น และในรายละเอียดสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้สอดคล้องกับการไปเรียนปริญญาตรี
ขณะที่ผู้เป็น "อาจารย์" หากสำเร็จปริญญาตรีต้องได้รับเกียรตินิยมอย่างน้อยอันดับ 2 มิฉะนั้นต้องสำเร็จปริญญาโท จึงสอนวิชาระดับปริญญาตรีได้
เห็นได้ว่าการศึกษาจะดำเนินไปได้ด้วยดีขึ้นกับผู้สอนตั้งแต่ปฐมวัยศึกษาถึงอุดมศึกษาที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่ผู้สอนด้านอาชีวศึกษาต้องเรียนเป็นครูอาชีวศึกษามาโดยเฉพาะ ไม่ว่าโครงสร้างการศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไร เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดมศึกษา แม้แต่อาชีวศึกษาที่ต้องการเป็นเอกเทศเช่นกัน การเรียนการสอนวิชาครูยังมีความจำเป็นเพื่อให้มีผู้สอนไปสอนผู้เรียนได้ตรงตามการเรียนการสอนในระดับนั้น
ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงศึกษา ธิการจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการเรียนวิชาครูตั้งแต่ปฐมวัยศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือรายได้
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557