เพชร เหมือนพันธุ์
คนทั่วโลกกำลังจับตามองมาที่สิงคโปร์ด้วยความประหลาดใจ ในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจการเงิน สามารถสร้างประเทศได้อย่างมหัศจรรย์ โดยใช้ระยะเวลาเพียง 50 ปี บางคนก็อาจอิจฉาบางคนอาจชื่นชมแต่คนที่บ้านผมจะ "สะออนเขา" ส่วนคนที่มีมิจฉาทิฐิที่ยังหลงตนเองอยู่ก็คงต้องปล่อยไปตามยถากรรม สิงคโปร์จึงเป็นต้นแบบของความสำเร็จ เป็น Model ในการพัฒนาประเทศ
ประเทศด้อยพัฒนาหลายชาติพยายามส่งคนของตนเองไปศึกษาดูงานที่สิงคโปร์ ด้วยเวลาเพียง 2-3 วันหรือ 1 สัปดาห์เป็นอย่างมาก หรือเพียงเดินผ่านประเทศเขา แล้วก็กลับมาเขียนเล่าเรื่องความเจริญของเขาเป็นตุเป็นตะ เหมือนเอาพวกชาวป่า มาเดินชมสวนจตุจักรแล้วให้ขึ้นรถไฟลอยฟ้าลอดอุโมงค์แล้วให้กลับไปเล่าให้เพื่อนที่หมู่บ้านฟัง แล้วพากันไปฝันว่าจะไปสร้างสวนจตุจักรไปสร้างรถไฟฟ้าลอดอุโมงค์ในชุมชนของตนให้เหมือนกับในกรุงเทพฯ จึงยากที่จะพบความสำเร็จ
ถ้าอยากพัฒนาจริงๆ รัฐบาลต้องกล้าลงทุนหน่อย ส่งคนที่มีความรู้ มีความคิด มีสมอง ที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาชาติ เข้าไปเรียนรู้จากเขาแบบฝังตัวอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา หรือน้อยสุด 1 ภาคเรียนแล้วกลับไปดูอีกหลายๆ รอบอย่างจริงจัง ไปถอดเอาความรู้ ( Knowledge Management : KM) ของเขามาให้ได้อย่างถูกต้อง เขาจัดอย่างไร ทำไมเด็กชั้นประถมศึกษาของเขา จึงอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ทุกคน เขาเน้นการศึกษาในระดับนี้มากที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานของการศึกษาทุกระดับ ใช่หรือไม่? แล้วของเราเน้นอะไร?
หลักสูตรการศึกษาในระดับปฐมวัย ไม่เป็นการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งจะมีทั้งโรงเรียนของเอกชนและของรัฐบาลจัด เน้นการสร้าง "สังคมเด็ก" เน้นการให้เด็กได้เรียนได้เล่นร่วมกันแบบกลมกลืน เริ่มจากมีศูนย์เด็กเล็ก 8 เดือน-3 ปี อนุบาล 4-6 ปี เรียนจันทร์-ศุกร์ เรียนเพียง 3-4 ชั่วโมง เน้นการให้เด็กได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติหลายศาสนา
หลักสูตรในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ป.1-ป.4 สิงคโปร์ จะให้เริ่มเรียนวิชาหลัก (Core Subject) เพียง 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ (Mother Tongue) ซึ่งมีอยู่ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาอินเดีย (ภาษาทมิฬหรือทามิล) และภาษามาเลย์ (เหมือนกับในสมัยเก่าของไทยที่สอนตามศาลาวัด คือ เลข คัด เลิก คือเรียน วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษา คัดลายมือ อ่านเขียนภาษาไทย) ให้เรียนในวิชาประกอบอีก ๖ วิชา คือ ดนตรีศึกษา หัตถกรรม สุขศึกษา หน้าที่พลเมือง สังคมศึกษา และพลศึกษา ซึ่งเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ รู้จักปรับตัวเข้าสังคมเด็กปลูกฝังสุนทรียนิสัยและสุขนิสัย รู้จักความถนัดตนเอง เข้าใจสังคมวัฒนธรรมของชาติ เข้าใจเพื่อนต่างชาติต่างศาสนา รู้หน้าที่ ผสมผสานคนในสังคมที่ต่างวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน พอถึงชั้น ป.3 จึงให้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ การศึกษาในระดับนี้สิงคโปร์เรียกว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 ปี ( Four Years Foundation Stage) เด็กที่เรียนจบชั้น ป.4 จะมีพื้นฐานทางภาษา อ่านออก เขียนได้ดี ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาที่สองและมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่เข้มแข็ง สามารถที่จะเรียนต่อได้
หลักสูตรประถมศึกษาตอนปลาย คือ ป.5-ป.6 นักเรียนที่เข้าเรียนในชั้นจะถูกแบ่งแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ตามผลการเรียนภาษาแม่ในระดับประถมต้น คือ กลุ่มที่ 1 EM 1 กลุ่มที่ 2 EM 2 กลุ่มที่ 3 EM 3 เด็กในระดับนี้จะเป็นวัยที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น สิงคโปร์จึงจะเน้นการจัดการเรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล เน้นความเป็นปัจเจกชนที่ชัดเจนเป็นพิเศษ เป็นหลักสูตร 2 ปี (Two Years Orientation Stage) ครูจะรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถมีความถนัดเฉพาะตัวในด้านใด เด็กก็ได้ตระหนักรู้ว่าตนเองมีความถนัดมีความรู้มีความสามารถด้านใด เด็กจะมีความภาคภูมิใจในตนเองและเห็นคุณค่าของตนเอง
ระบบการศึกษาระดับนี้จะเน้นพัฒนาเด็กให้ได้เต็มตามศักยภาพและเต็มตามสมรรถภาพ เด็กจะรู้จักตนเอง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผิดกับเด็กไทยที่พ่อแม่ต้องคอยดูแลและเป็นผู้คอยตัดสินใจแทนตลอดเวลา
การสอบจบชั้น ป.6 จะเป็นการสอบ PSLE : Primary School Leaving Examination มีความสำคัญยิ่งต่อตัวเด็ก เพราะผลของการสอบ จะนำไปเป็นเกณฑ์ประเมินในการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษา มี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ดังนี้
1) หลักสูตร 4 ปี สำหรับเด็กเรียนดีเยี่ยม (Special Course) และหลักสูตร 4 ปี สำหรับเด็กที่เรียนเก่ง (Express Course) เน้นการเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน GCE "O" Level : The Singapore - Cambridge General Certificate of Education ในตอนจะจบชั้น ม.4 เป็นสายตรงเข้ามหาวิทยาลัย
2) หลักสูตร 5 ปี สำหรับเด็กทั่วไป (Normal Course) ซึ่งแบ่งการสอนออกเป็น 2 กลุ่มวิชาคือกลุ่ม วิชาการ (Academic) และกลุ่มวิชาเทคนิค (Technical) ต้องสอบผ่าน GCE "N" Leven : General Certificate of Education ในตอนที่จะเรียนจบชั้น ม.5 เด็กเข้าเรียนในระดับนี้ตามความสามารถและตามความสนใจ
เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาทั้งสองหลักสูตรนี้แล้ว นักเรียนสามารถเลือกไปเรียนต่อในสายอาชีวะ สายเทคนิค หรือจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ผู้ที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะต้องไปเข้าเรียนใน หลักสูตร Junior College อีก 2 ปี หรือเรียนที่ Pre University ใช้เวลา 3 ปี และจะต้องสอบให้ผ่าน GCE "A" Level ก่อน จึงจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ และสามารถนำผลการสอบนี้ไปสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทั่วโลก
เด็กที่จบในระดับ มัธยมศึกษา ม.4 หรือ ม.5 จำนวน 65% เข้าเรียนต่อในสายอาชีพ 25% เข้าเรียนต่อใน Junior college หรือเตรียมมหาวิทยาลัย Pre University และ 10% เข้าสู่ตลาดแรงงาน เด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษา 4-5 ปี จึงรู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ รู้จักตนเอง คะแนนมาตรฐานทางวิชาการอยู่สูงในระดับต้นของโลก
ถามว่าทำไมเขาจัดการศึกษาในระดับนี้ประสบผลสำเร็จแบบไม่ต้องมาตามเก็บศูนย์ ร มส. เหมือนเด็กไทย ก็ต้องกลับไปดูระบบการวัดผลของเขาให้เข้าใจด้วยว่า เขามีวิธีการวัดผลอย่างไร ใช้การสอนแบบใด การสอนใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Base Learning) ใช้แบบโครงงาน (Project Base Learning) เรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง การทำงานเป็น กลุ่มเป็นทีม (Team Work) การเขียนรายงานการผลการปฏิบัติงาน การได้เขียนรายงานการค้นคว้า การนำเสนอผลงาน (Presentation) อย่างเป็นระบบ
ครูสอนโดยใช้วิธีการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Learning) ให้ผู้เรียนได้ซักถามโต้ตอบปัญหาแบบโสเครติส (Socrates) เด็กต้องเขียนรายงานการค้นคว้า มีการค้นคว้าเป็นกลุ่ม นำเสนออย่างเป็นระบบ เด็กจึงกล้าแสดงออก กล้าซักถามปัญหา
ครูจะได้รับการฝึกฝนการสอนอย่างดี มีการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบจากสถาบัน MIE เป็นเวลา 1 ปี มีครูพี่เลี้ยงดูแลให้คำปรึกษา และครูจะต้องถูกประเมินความสามารถในการสอนทุกปี ถ้าประเมินไม่ผ่านถึง 3 ครั้ง จะถูกให้ออก คนที่มาเป็นครูจึงต้องเป็นคนเก่ง สังคมยกย่อง พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจ
หลักสูตรโปลีเทคนิค (Poly Technic) ใช้ระยะเวลาเรียน 3 ปี รัฐบาลให้การทุ่มเทในระดับนี้มาก สิงคโปร์มีสถาบัน Poly Technic อยู่ 5 แห่ง เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนมีเพียบ จัดสร้างอาคารสถาบันไอทีอี ITE College Central สอนวิชาชีพที่มีวิชาให้เลือกมากมาย เช่น อากาศยาน วิศวกรรมทางทะเล การออกแบบ มัลติมีเดีย ธุรกิจ สื่อสารมวลชน ฯลฯ ผู้ที่เรียนจบในระดับนี้จะมีความรู้ มีความชำนาญ มีทักษะเพียงพอ สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ แต่เด็กและผู้ปกครองก็ยังอยากให้เรียนจบระดับมหาวิทยาลัยเหมือนเด็กไทย รัฐบาลจึงปรับหลักสูตร ปวช. และ ปวส. ให้สามารถถ่ายโอนกันได้ผู้เรียนสามารถนำความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ เด็กสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพได้ เด็กทุกคนที่เรียนจบ โปลีเทคนิคสามารถประกอบอาชีพได้ไม่ตกงานและสามารถเรียนต่อถึงระดับปริญญาได้
หลักสูตรสาขาวิชาช่าง (Institutes of Technical Education : ITE) เปิดสอนวิชาช่างโดยเฉพาะ เน้นผู้เรียนที่มีความประสงค์จะเพิ่มทักษะทางการปฏิบัติและทักษะทางด้านวิชาการ นักเรียนที่ผ่านระดับนี้ในเกณฑ์ที่ดี สามารถไปเรียนต่อในระดับโปลีเทคนิค และระดับมหาวิทยาลัยได้
การศึกษาของสิงคโปร์สอนประชาชนให้เป็นนักธุรกิจ เคารพในความเป็นปัจเจกชน มีความเข้าใจในระบบสังคมที่มีความผสมผสาน มองเห็นสถานที่ทำงานอยู่ทุกภาคส่วนของโลก นักเรียนที่ผ่านระบบการศึกษามาในระดับโปลีเทคนิคระดับหลักสูตรวิชาช่างและระดับมหาวิทยาลัยไม่เคยตกงาน ระบบการศึกษาของคนสิงคโปร์สอนให้คนฉลาดรู้จักคิด รู้จักวางแผน อดทนสู้งาน สอนให้เป็นนักธุรกิจ เข้าใจความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม สามารถออกไปประกอบธุรกิจต่างแดน ออกทำงานนอกประเทศในระดับผู้บริหารองค์กรได้
การวัดผลการเรียนรู้รายวิชาครูผู้สอนเป็นคนสอบวัดผล ใช้ข้อสอบแบบอัตนัยเป็น การวัดผลตอนเรียนจบใช้ข้อสอบมาตรฐานจากภายนอก ตั้งแต่ระดับ GCE "O" Level, GCE "A" Level , PSLE ,และ GCE "N" Level
หันกลับมามองบ้านเรา แยกไม่ออก บอกไม่ถูก มันเป็น "อุ้มลุ้มไปหมด" ตั้งแต่ชั้นประถมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย เรียน 8 สาระ ไปจนถึงชั้นมัธยมปลาย วัยเด็กเล็ก กับวัยรุ่น กับวัยผู้ใหญ่เรียนเหมือนกัน สาระวิชาซ้ำซ้อนกับของเก่า เรียนแล้วเรียนอีก อักษรสูง กลาง ต่ำเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมต้นจบปริญญาตรี ภาษาอังกฤษ เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมหาวิทยาลัย เด็กก็ยัง ฟังไม่ออก พูดไม่ได้ เขียนไม่เป็น
ในประเทศที่เขาเจริญแล้วในช่วงที่เปิดเรียนจะไม่มีการเชิญครูอาจารย์ไปประชุมสัมมนาหรือมีแต่ก็น้อย เขาจะให้เตรียมทุกอย่างให้เสร็จสิ้นในช่วงปิดภาคเรียน เปิดเทอมมาทั้งเด็กและครูต่างก้มหน้ามุ่งมั่นสอนมุ่งมั่นเรียนเต็มที่ ปัญหาการศึกษาเมืองไทยมาจากผู้ใหญ่ มาจากการที่ อรหันต์ทั้งหลายออกแบบหลักสูตร และออกแบบวิธีการวัดผลวิธีการประเมินผลที่ผิดพลาด มีที่ไหนในโลกที่เด็กสอบตกยังให้เลื่อนชั้นได้ มีที่ไหนในโลกที่การสอบวัดผลประเมินผลการเรียน ให้เด็ก กา ก ข ค ง โดยที่ครูบางคนไม่ยอมเสียเวลาตรวจกระดาษคำตอบ แต่สามารถให้คะแนนเด็กได้
ครูบางคนใช้วิธีการเพ่งญาณ นั่งเทียน หรือนั่งทางใน เมกอัพคะแนน โดยที่ครูใหญ่ และหัวหน้าหมวดวิชาไม่เคยสนใจ หรือ ไม่รู้ไม่เห็น "บาปกรรม" ครูเก่ารับไม่ได้ คนในระดับความรับผิดชอบสูง ไม่เคยรู้บ้างเลยหรือ มันคือรูรั่วรอยใหญ่ใต้ท้องเรือ บางโรงเรียนครูที่มีลูกกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนพอคะแนนลูกตนเองได้เกรดต่ำ พ่อแม่ก็เดินไปขอเกรด จากเพื่อนครูผู้สอน เพื่อให้ได้เกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้น จะได้มีโอกาสมากกว่าเด็กคนอื่นในสิทธิการศึกษาต่อ คอร์รัปชั่น ชัดๆ
น่าสมเพชเวทนาประเทศไทย การศึกษาล้มเหลวเพราะคนรับผิดชอบการปฏิรูปการศึกษาไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง มีเรือดีแพดีไม่ขี่ข้าม...
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 29 ต.ค. 2557 (กรอบบ่าย)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปฏิรูปการศึกษา เรียนรู้จากผู้ประสบผลสำเร็จ : "เกาหลีใต้"