หากเอ่ยถึงเฟซบุ๊ค คงไม่ต้องตั้งคำถามถึงความนิยมใด ๆ ของเครือข่ายชุมชนออนไลน์แบรนด์นี้อีกต่อไปแล้ว หลังจากมันได้ผงาดเป็น"เครือข่ายทรงอิทธิพล"ของโลก ไปเรียบร้อย ด้วยจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกในระดับหลัก 1,200 ล้านคน และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในอนาคตข้างหน้า
และสำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊คเป็นประจำ หรืออาจจะเรียกได้ว่า สาวกเฟซบุ๊ค ทั้งหลาย ต่างก็ใช้"สื่อออนไลน์"นี้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มเพื่อนของพวกเขา ในรูปลักษณะเหมือนกัน นั่นคือ โพสต์ข้อความ-คลิกชอบ-โหลดภาพ-แสดงอารมณ์ และแชร์ข้อความ มีเพียงอย่างเดียวที่ยังไม่มี นั่นคือ การคลิก"ไม่ชอบ" โดยที่ผ่านมา การ"ขาดหาย"ของสิ่งนี้ ได้ทำให้เกิดคำถามจากสาวกเฟซบุ๊ค แทบเรียกได้ว่า เกือบจะ 90 เปอร์เซนต์ หรือทั้งหมดด้วยซ้ำ ด้วยข้อสงสัยว่า ก็ในเมื่อเฟซบุ๊คยังมีปุ่ม"ไลค์"ได้ แล้ว"ทำไม"เฟซบุ๊ค ถึงไม่มี"ปุ่ม"dislike"( ไม่ชอบ)เล่า
ว่าไปแล้ว ถึงขณะนี้ ปุ่มไลค์(ชอบ) ได้กลายเป็นสัญญลักษณ์"ยอดนิยม"ของเฟซบุ๊คไปแล้ว ขณะที่ปุ่ม"dislike"ที่ไม่มี ก็กลายเป็นปริศนาทางอินเตอร์เนทมาตลอด ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ถึงกับมีสาวกเฟซบุ๊คจำนวนหลายพันคนได้"เข้าชื่อ"เรียกร้องให้เฟซบุ๊ค เพิ่มปุ่มดังกล่าว หรือแม้แต่คิดไปไกลว่า เฟซบุ๊ค น่าจะมีปุ่ม"นิ้วกลาง"ด้วยซ้ำ (ขนาดนั้่นจริงๆ)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเบรต เทย์เล่อร์ อดีตซีอีโอเฟซบุ๊ค ผู้สร้างปุ่ม"คลิกไลค์" ได้กล่าวเฉลยปริศนาเรื่องนี้ว่า ในขณะที่ปุ่มคลิกไลค์ หรือคลิก"ชอบ"เป็นเสมือนการ"ให้อำนาจ"ผู้ใช้เฟซบุ๊ค ได้แสดงออกถึงการเกี่ยวพันด้านต่าง ๆ กับเพื่อนๆ ของเขา ในอีกด้านหนึ่ง เฟซบุ๊ค เห็นว่า มันเป็นเรื่อง"ไม่เหมาะสม"ที่จะให้เฟซบุ๊ค มีปุ่ม"dislike"หรือปุ่ม"ไม่ชอบ"หลังจากที่ทีมงานเฟซบุ๊คได้เคยโต้เถียงกันมาแล้ว โดยทุกฝ่ายต่างล้วนสรุปเห็นพ้องว่า การมีปุ่มไม่ชอบ จะนำมาซึ่ง"ผลด้านลบที่รุนแรงมาก"
นายเบรต บอกว่า เหตุผลที่ทีมงานเฟซบุ๊ค ผลิตปุ่ม"like"ออกมา ก็เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนย่อมต้องการจะแสดงการยอมรับใน"บางสิ่ง" หรือ"บางคน"ที่พวกเขา ชอบ เป็นหลักอยู่แล้ว แต่สำหรับปุ่ม"ไม่ชอบ" ไม่สมควรยิ่งที่นำมาใช้ เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ หากนำมาใช้ มันจะก่อให้เกิดผลในเชิงลบอย่างมากมาย โดยเฉพาะการทำให้เฟซบุ๊คกลายเป็น"สนามรบแห่งการทะเลาะวิวาท"มากกว่า"สนามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน" และในทางปฎิบัติ หากนำปุ่มดังกล่าวมาใช้ มันจะ"ทำลายแนวโน้ม"การโพสต์ข้อความในเชิงสร้างสรรค์ ที่ผู้คนต้องการจะให้ผู้อื่นยอมรับเขาในด้านบวก ในเชิงจิตวิทยา
นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่ง การใช้ปุ่ม"dislike"ย่อมจะทำให้ผู้คน มีความรู้สึกไม่ดี หรือเป็นศัตรูต่อกัน หากข้อความของเขาถูกคลิก"ไม่ชอบ"จากเพื่อน หรือบุคคลอื่น ๆ ดังนั้น การคงไว้ซึ่งปุ่ม"like"อย่างเดียว ในเชิงจิตวิทยา รวมทั้งในทางปฎิบัติ จะเป็นการ"บังคับให้ผู้คน แสดงความเห็น หรือความรู้สึกของพวกเขา ออกมาในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ
นายเบรต กล่าวว่า ถ้าเฟซบุ๊คเกิดมีปุ่ม"ไม่ชอบ"นั่นจะทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊คเพิ่มทัศนคติในแง่ลบต่อกัน เพราะผู้คนย่อมรู้สึกไม่ดี เมื่อทัศนะของเขาถูก"ปฎิเสธ"หรือถูก"รังเกียจ"จากการถูกคลิก"ไม่ชอบ"และสุดท้าย บทสนทนาในโพสต์ต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ค จะจบลงด้วยการเป็นศัตรูมากกว่าความเป็นมิตร ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราตระหนักว่า อำนาจของปุ่ม"ไม่ชอบ"นั้น มีพลานุภาพด้านลบที่ส่งผลได้อย่างร้ายแรงและรุนแรงมาก ๆ หากเรานำเอามาใช้จริง ๆ
และแม้ว่า ปุ่มคลิก"ชอบ"จะไม่ใช่ปุ่มที่"สมบูรณ์แบบ"เพราะบางครั้งมันไม่ได้แสดงออกถึงอารมณ์แท้จริงของบุคคล แต่การมีปุ่มดังกล่าว ก็มีไว้โดยคำนึงถึง"หลักแห่งมารยาทในเชิงสังคม"บนถนนสื่อสารนาม"เฟซบุ๊ค" เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เฟซบุ๊ค ได้กลายเป็นสื่อหรือช่องทางสื่อสารที่ทรงอิทธิพลอยู่ได้ เพราะการวางกลยุทธ์ที่แยบคาย หรือกุศโลบายแห่ง"การกำกับ"การสื่อสารของผู้คน ภายในเครือข่ายชุมชนออนไลน์
โดยเฟซบุ๊คเลือกที่จะ"ลด"และ"สกัด"สารที่จะสร้างบรรยากาศเลวร้ายภายในสังคมเฟซบุ๊ค และต่อตัวผู้ใช้ นั่นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่ง เฟซบุ๊คได้ดำเนินบทบาท ในฐานะผู้กำกับบทว่า บทสนทนาใดสมควรมี และบทสนทนาใด ไม่สมควรจะใส่ลงไป!
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เฟซบุ๊ค มีหลักการง่าย ๆ ว่า "ถ้าคุณไม่อยากพูดอะไรดี ๆ ก็ไม่ต้องพูดเลยซะดีกว่า"เพราะแน่นอนว่า การพูดเรื่องไม่ดี ย่อมไม่สร้างสรรค์ และนั่นจะทำให้เฟซบุ๊ค กลายเป็น"สังเวียนปะทะคารม"ระหว่างผู้ใช้ มากกว่าสถานที่พูดคุยอย่างผ่อนคลาย สบาย สร้างสรรค์ และก่อให้เกิด"ผลดี"มากกว่า"ผลเสีย" นายเบรตสรุปทิ้งท้าย
ฉะนั้น ถึงประโยคนี้ เราคงจะเข้าใจดีแล้วถึงปริศนาการไร้ปุ่ม"ไม่ชอบ"ของเฟซบุ๊ค และคงไม่มีคนเรียกร้องให้มีปุ่มนี้อีกต่อไป เมื่อเฟซบุ๊ค ได้ตอบอย่าง"ชัดเจน"ขนาดนี้แล้ว จริงหรือไม่ ?
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์