คุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในประเทศสิ่งหนึ่งที่กล่าวได้ว่าเป็นความปรารถนา นั่นก็คือ การศึกษาที่ดี มีคุณภาพ การที่คนในชาติเป็นผู้ที่มีความพร้อมด้วยวิชาความรู้ ความสามารถ ทักษะในวิชาชีพ ทักษะการใช้ชีวิตที่ดีงามของสังคม เป็นดัชนีชี้วัดประชากรในเมืองและประเทศนั้นอันเป็นที่ผู้รู้ นักวิชาการนักคิดทั้งหลายต่างมีการวัดและประเมินไปในทิศทางเดียวกันทั้งโลก
มหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่ก่อกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูมาเป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตามลำดับของพัฒนาการการศึกษาเพื่อชุมชนและท้องถิ่น เมืองไทยเรามีมหาวิทยาลัยราชภัฏกระจายอยู่ทุกภูมิภาค 40 แห่ง ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่บุตรหลานในท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับปริญญาเอก การบริหารการศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมเสมอมา ทั้งคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษาเพื่อเข้าสู่ระบบตลาดแรงงาน การช่วยเหลือบริการท้องถิ่นชุมชนรอบข้าง การวิจัยที่สามารถนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และการบริหารจัดการที่ถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมภายในและสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย...
เมื่อเร็ววันมานี้ได้มีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกของเว็บเบเมตริกส์ของประเทศสเปน ผู้เขียนใคร่ขอนำข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามาเป็นอันดับ 1 ยะลาอันดับ 2 สวนดุสิตอันดับ 3 พระนครอันดับ 4 บุรีรัมย์อันดับ 5 พิบูลสงครามอันดับ 6 นครปฐมอันดับ 7 รำไพพรรณีอันดับ 8 อุตรดิตถ์อันดับ 9 และลำปางอันดับ 10
สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเป็นอันดับ 1 จาก 40 แห่งแล้วยังเป็นลำดับที่ 25 ของประเทศไทย เป็นอันดับที่ 70 ของอาเซียน อันดับที่ 708 ของเอเชีย และอันดับที่ 2,173 ของมหาวิทยาลัยในโลกนี้ เราท่านทั้งหลายอาจจะมีข้อสงสัยและคำถามที่ต้องการคำตอบจากประชาคมชาวราชภัฏนับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยราชภัฏมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ประกาศใช้ในทุกแห่งทั่วเมืองไทย แต่ระบบการบริหารจัดการคุณภาพของบัณฑิต ความเชื่อมั่นของชุมชนท้องถิ่น และระบบการประเมินทั้งในประเทศและนานาชาติมีผลออกมาที่ผู้บริหารทั้งโดยตรงและอ้อม ต้องกลับมาทบทวนจุดยืนหรือเป้าหมายในอนาคตของตนเองอย่างมิต้องมีความลังเลและสงสัย
หากมองด้วยข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วเมืองไทยได้เป็นสถานศึกษาที่ให้โอกาสแก่บุตรหลานบางคนที่อาจจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียงของประเทศมิได้ แต่ยังมีโรงเรียนสาธิตอีกหลายแห่งที่เป็นผลผลิตที่ได้ส่งต่อบุคลากรสำคัญของประเทศมากมาย อาทิ แพทย์ วิศวกร พยาบาล เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ ส่วนศิษย์เก่าของวิทยาลัยครูสมัยก่อน เมื่อมาถึงยุคนี้หลายคนได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้บริหารจัดการทั้งของรัฐและเอกชนกระจายกันอยู่ทั่วเมืองไทย
คำถามหนึ่งก็คือ นักศึกษาที่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในปัจจุบันระดับต่างๆ มีคุณภาพที่แท้จริงทั้งของตนเอง สังคม และประเทศชาติหรือไม่...
ในแวดวงการศึกษา ได้มีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกโดย QS world University Randings ปี 2014-2015 ปรากฏว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับที่ 1 ของเมืองไทย แต่อยู่ในอันดับที่ 48 ของเอเชีย และอันดับที่ 243 ในระดับโลก รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 49 ของเอเชีย และอันดับที่ 257 ของโลก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 104 ของเอเชีย และอันดับที่ 501-550 ของโลก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับที่ 135 ของเอเชีย และอันดับที่ 601-650 ของโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 150 ของเอเชีย และอันดับที่ 651-700 ของโลก มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับที่ 188 ของเอเชีย และอันดับที่ 701 ของโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 190 ของเอเชีย และอันดับที่ 701+ ของโลก และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับที่ 194 ของเอเชียและอันดับที่ 701+ ของโลก
สำหรับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับที่ 1-4 ของโลก อันดับ 1 Massachusetts Institute of Technology (MIT) อันดับ 2 University of Cambridge อันดับ 3 Imperial College London อันดับ 4 Harvard University, University of Oxford โดยมีตัวชี้วัด 6 ด้านคือ ชื่อเสียงทางวิชาการของมหาวิทยาลัย, ทัศนคติของผู้จ้างงาน, สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาต่อจำนวนอาจารย์, สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ, และสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติ... (มติชนรายวัน 20 กันยายน 2557 หน้า 17)
การที่มหาวิทยาลัยในเมืองไทยเราไม่ติดใน 200 ของมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้น มีเหตุปัจจัยมาจากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันหลายประการ มหาวิทยาลัยที่ใกล้บ้านเรามากที่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียติดอยู่ในอันดับที่ 151 ของโลก หากดูการประเมินระบบการศึกษาในอาเซียนก็พบว่า ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับต้น ส่วนระบบการศึกษาในบ้านเมืองเราอยู่รองจากพม่า ลาว และเวียดนามจริงหรือไม่...
ความจริงประการหนึ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราท่านทั้งหลายในขณะนี้ก็คือ มีแรงงานข้ามชาติรอบบ้านเราทั้งพม่า ลาว กัมพูชา จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น หลายคนเข้ามาทำงานร่วมกับคนไทย เขาเหล่านั้นหลายคนสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ สื่อสารติดต่องานระดับต่างๆ อยู่ในระดับดี แต่หากกลับมามองถึงเด็ก เยาวชนไทย นักศึกษาที่เป็นคนไทย เกิดในแผ่นดินไทย กินอยู่หลับนอนในเมืองไทย หลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษากับชาวต่างชาติได้แม้กระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียง
คำถามหนึ่งก็คือเมื่อความเป็นอาเซียนจะเข้ามาเร็ววันนี้แล้ว บุคลากรที่สำคัญของไทยเราได้มีการเตรียมพร้อมทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา รวมไปถึงปัญหาสังคมต่างๆ ที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เราท่านมีความพร้อมแค่ไหนเพียงไร...
ในรอบปีหนึ่งจะมีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศที่จบออกไปสู่ตลาดแรงงานนับแสนคน ผู้ประกอบการบางรายอาจจะใช้ช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาในการจ้างงานผู้ที่จบระดับปริญญา แต่มิได้มีค่าจ้างตามประกาศของรัฐบาล หรือโอกาสในการก้าวหน้าทางหน้าที่การงานก็อาจจะด้อยกว่าจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหา
บางประการที่อยู่ในแวดวงของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จะปฏิเสธมิได้นั่นก็คือ มีนักศึกษาส่วนหนึ่งถูกให้ออกจากระบบการศึกษา
ผู้เรียนบางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ วิเคราะห์ไม่เป็น ปัญหาท้องในวัยเรียน ยาเสพติด การพนัน การกู้ยืมเงินเรียนของรัฐที่มิได้มีการคืนตามกำหนด และปัญหา
อื่นๆ อาจจะรวมไปถึงปัญหาการบริหารจัดการของผู้บริหารบางแห่งต้องมีคดีกันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็มีจำนวนไม่น้อย
ผลผลิตของบัณฑิตวิทยาลัยครูสมัยก่อนหลายคนในบ้านเมืองเราในปัจจุบันเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นผู้ที่มีความรู้ คุณธรรมจริยธรรม บางคนเป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เราท่านอาจจะสังเกตได้ส่วนหนึ่งที่ว่า เมื่อถึงคราวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏได้มีการพระราชทานปริญญาบัตร หลายแห่งได้ใช้วาระนี้เพื่อประกาศให้ศิษย์ในปัจจุบันได้เห็นถึงคุณค่าของบัณฑิตรุ่นก่อนๆ โดยให้ปริญญากิตติมศักดิ์ในชั้นระดับต่างกันไป...
มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน พระองค์ท่านได้เล็งเห็นถึงการให้โอกาสทางการศึกษาแก่บุตรหลานที่จะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งของตนเอง ครอบครัว ประเทศชาติ
ผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและอ้อมต่างตระหนักในภาระ หน้าที่ที่พระองค์ท่านได้ให้ความไว้วางใจเพื่อจัดการระบบการศึกษาให้เยาวชนไทย ผู้ที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนได้มีคุณภาพทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะชีวิต คุณธรรมจริยธรรม แล้วหวังว่าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าไม่นานนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏก็สามารถยืนอยู่ในระดับโลกจะเป็นไปได้หรือไม่...
โดย เฉลิมพล พลมุข
(ที่มา มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2557)