หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. ..ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 9 ต.ค. 2557 แล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือ ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 30 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจาฯ ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มเติมสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้จากร่างเดิมใน 3 ส่วน คือ
การขยายกลุ่มบุคคลผู้มีสิทธิ ระยะเวลาการใช้สิทธิ และหลักเกณฑ์การคืนเงินเดิมกลุ่มผู้มีสิทธิประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้สิทธิประโยชน์ยิ่งขึ้นจากเดิม โดยเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิกลับไปรับบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.นี้ อีก 5 กลุ่ม ได้แก่
(1) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และลาออกจากราชการเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการ ศาลปกครอง
(2) ข้าราชการที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 ซึ่งลาออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2540 และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2558
(3) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และมีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(4) พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ
(5) ผู้รับบำนาญซึ่งเคยเป็นข้าราชการใน 4 กลุ่มข้างต้น
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางเตรียมพร้อมในการให้ใช้สิทธิเลือกออกจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เกือบ 100% แล้ว ทั้งในด้านหลักเกณฑ์และระบบปฏิบัติการ และภายในเดือน ต.ค. และ พ.ย.นี้ กรมบัญชีกลางจะให้ความรู้กับส่วนราชการเพื่อปฏิบัติงานในเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้แก่กลุ่มผู้มีสิทธิ ซึ่งคาดว่าอาจจะมีข้าราชการขอโอนย้ายกลับไปรับบำบาญแบบเดิมประมาณ 3 แสนคน
ผู้มีสิทธิทุกกลุ่ม สามารถแสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2558 โดยข้าราชการยื่นเรื่องแสดงความประสงค์ได้ที่ส่วนราชการ ที่ปฏิบัติราชการอยู่ ผู้รับบำนาญยื่นได้ที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ยื่นได้ที่ส่วนราชการส่วนท้องถิ่น ผู้เบิกบำนาญ และพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ยื่นได้ที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย
สำหรับการขอมารับสิทธิบำนาญแบบเดิม แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก เป็นข้าราชการซึ่งรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข. แบ่งเป็นกรณี ได้ดังนี้
1.สมาชิก กบข. ที่จะขอไปรับสิทธิบำนาญแบบเดิมให้แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2558 โดยสมาชิกภาพกบข.จะสิ้นสุดในวันที่ 1 ต.ค. 2558
2.ผู้ซึ่งต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ยกเว้นถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2558 ให้สมาชิกภาพของสมาชิก กบข. สิ้นสุดนับจากวันที่ออกจากราชการ
3.การแสดงความประสงค์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 หรือวันออกจากราชการ และให้ได้รับบำนาญเดิม
4.ข้าราชการตามข้อ 1-3 ไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว โดยให้ กบข. ส่งเงินดังกล่าวเข้าบัญชีสำรอง สำหรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว กบข. จะจ่ายเงินให้แก่ข้าราชการผู้นั้น
5.หากข้าราชการที่แสดงความประสงค์ไว้แล้ว ถึงแก่กรรมก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2558 หรือวันก่อนออกราชการ ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นไม่มีผลบังคับใช้
ส่วนที่สอง สมาชิก กบข. ที่เป็นข้าราชการบำนาญที่รับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 การจะขอกลับไปรับเงินบำนาญแบบเดิม ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1.สามารถแสดงความประสงค์ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2558 และผู้รับบำนาญต้องคืนเงินก้อน (เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินดังกล่าว) ที่รับไปแล้วแก่ทางราชการ โดยผู้รับบำนาญจะได้รับบำนาญตามสูตรเดิมตั้งแต่วันที่ออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2558 โดยวิธีหักกลบลบกัน
2.การหักกลบลบ หากมีกรณีที่รับบำนาญต้องคืนเงิน ให้ผู้รับบำนาญคืนเงินแก่ราชการผู้เบิกภายในวันที่30 มิ.ย. 2558 เพื่อนำส่งกรมบัญชีกลางโดยเงินที่ส่วนราชการรับคืนไม่เป็นรายได้ต้องนำส่งคลัง หากมีกรณีที่ต้องคืนให้กับผู้บำนาญ กรมบัญชีกลางจะคืนเงินให้ผู้รับบำนาญ หากมีเงินเหลือจะนำส่งเข้าบัญชีสำรอง
3.ผู้รับบำนาญที่แสดงความประสงค์แล้ว เป็นผู้รับบำนาญแบบเดิมตั้งแต่วันที่ออกจากราชการ แต่หากผู้รับบำนาญมีกรณีต้องคืนเงินให้ดำเนินการภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ถึงจะได้รับสิทธิ
4.หากผู้รับบำนาญที่แสดงความประสงค์ไว้ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2558 ให้ถือว่าการแสดงสิทธินั้นไม่มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดเป็นแนวทางของ สมาชิก กบข.ที่ต้องการขอไปรับบำนาญแบบเก่า แต่ทางเลือกแบบไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอายุราชการ - รายได้ที่จะได้รับ - เงินที่ได้รับตอนออกจากสมาชิก กบข. ยังอยู่หรือไม่
นั่นเป็นเรื่องที่สมาชิกกบข. จะต้องดีดลูกคิด หักกลบลบหนี้กันเองว่า การรับผลประโยชน์แบบ กบข. ที่เป็นอยู่ และแบบการรับบำนาญแบบเก่า แบบไหนจะดีกว่ากัน หากไม่สามารถคิดได้เอง แนะนำให้พึ่งพาที่ปรึกษาทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็จะช่วยในการตัดสินใจได้มากขึ้น
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 ตุลาคม 2557