สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ผู้บริหาร สพฐ. โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมรับฟังนโยบาย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ที่อาคาร สพฐ. 4
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีบทบาทและภารกิจในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความเป็นไทย และมีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล ด้วยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจ ตามหลักธรรมาภิบาล โดย สพฐ.มีโรงเรียนในสังกัด 30,922 แห่ง มีนักเรียน 7,404,606 คน และมีบุคลากรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ 416,100 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2557)
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาที่สำคัญของ สพฐ. จำแนกเป็น 3 ด้าน คือ
1. ด้านสิทธิและโอกาส สพฐ.มีโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี สำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติมจากงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเดิม โดยมีจำนวนนักเรียนเป้าหมายในแต่ละปี ดังนี้
ปี 2552 มีจำนวนนักเรียนเป้าหมาย 8,017,064 คน
ปี 2553 มีจำนวนนักเรียนเป้าหมาย 8,172,435 คน
ปี 2554 มีจำนวนนักเรียนเป้าหมาย 8,090,225 คน
ปี 2555 มีจำนวนนักเรียนเป้าหมาย 7,788,044 คน
ปี 2556 มีจำนวนนักเรียนเป้าหมาย 7,686,871 คน
นอกจากนี้ มีการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและการเรียนร่วม การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสและนักเรียนที่มีศักยภาพสูง รวมถึงการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษ เช่น โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ด้านคุณภาพ
- การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และโครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน (Spirit of ASEAN)
- การพัฒนาหลักสูตรการศึกษา สพฐ.จะจัดทำการวิจัยระดับชาติ เพื่อเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้หลักสูตรของทุกโรงเรียนในสังกัด เพื่อวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการใช้หลักสูตรแกนกลางปี 2551 การลดภาระงานของครู การทบทวนและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ของหลักสูตรแกนกลาง และการอบรมและพัฒนาครูเกี่ยวกับหลักสูตร
- การส่งเสริมอาชีพพื้นฐาน จะมีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงการจัดโครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
- การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียน ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ กิจกรรมแผนที่ความดี โครงการคุณธรรม เยาวชนทำดีถวายในหลวง โครงการสภานักเรียน โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมโดยกระบวนการลูกเสือ โครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา
- การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน สพฐ.ตระหนักในสภาพความไม่เท่าเทียมกันของแต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย โครงการโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล โครงการโรงเรียนในฝัน (โรงเรียนดีประจำอำเภอ) โครงการโรงเรียนดีศรีตำบล และโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
3. ด้านประสิทธิภาพ สพฐ.ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในเรื่องการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการศึกษา การพัฒนาสถานศึกษาในสังกัดให้มีความเข้มแข็ง การเสริมสร้างสมรรถนะในการบริหารจัดการด้านการเงิน การคลัง การตรวจสอบ การเสริมสร้างและพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา การกำหนดมาตรฐานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การเน้นกลไกการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมขององค์คณะบุคคล การประเมินและพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของสถานศึกษาในสังกัด
ในส่วนของการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ 2558 มีจุดเน้นคือให้ครูได้รับการพัฒนาองค์ความรู้และสมรรถนะผ่านการปฏิบัติจริง มีความรู้ด้านเนื้อหาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีสมรรถนะด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สมรรถนะด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คุณธรรม จริยธรรม กระบวนการคิดวิเคราะห์ มีการยกย่องคนดี คนเก่ง สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู อีกทั้งต้องมีการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเร่งด่วน การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำหรือถดถอย และการพัฒนาเข้าสู่ตำแหน่ง
รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้รับฟังรายละเอียดการดำเนินงานจากผู้บริหาร สพฐ. โดยในภาพรวมเป็นไปตามแนวทางนโยบายที่กำหนด โดยที่ สพฐ.เป็นองค์กรใหญ่ที่จะต้องมีปัญหาและอุปสรรคอยู่แล้ว จึงต้องการมาหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียน ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ คือ
การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผ่านมามักจะจัดอบรมสัมมนาครูในเวลาเพียง 4-5 วัน มีการใช้งบประมาณพอสมควร แต่อาจได้ประโยชน์กลับมาไม่คุ้มค่า สพฐ.จึงเสนอให้มีการปรับรูปแบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ครูในพื้นที่เดียวกันร่วมกันจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทั้งนี้จะมีการหารือในรายละเอียดของรูปแบบเพื่อเป็นแนวทางให้ สพฐ.ดำเนินการในปีงบประมาณ 2558
การปรับลดกิจกรรมของหน่วยงานภายนอกที่ไม่จำเป็น สำหรับกิจกรรม/โครงการต่างๆ ของหน่วยงานภายนอกจำนวนมากที่จัดขึ้น และให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียนเข้าร่วม ทำให้รบกวนการเรียนในห้องเรียนของนักเรียน ต้องหารือถึงวิธีการปรับลดกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนและไม่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน หรืออาจจะผนวกกิจกรรมดังกล่าวเข้ากับหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาในห้องเรียนมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายรายหัวที่เป็นค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต) มีแนวทางการแก้ไขเบื้องต้นคือ การช่วยกันประหยัด และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมในเรื่องการประหยัดน้ำและไฟฟ้า หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้วยังไม่เพียงพอ และจำเป็นที่จะต้องขอเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัว ก็ขอให้พิจารณาทบทวนและเสนอ ซึ่งอาจจะจัดสรรจากงบประมาณที่มีอยู่ เช่น งบประมาณการดูงานต่างประเทศ โดยให้ตัดการเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่ไม่จำเป็นออกไป
นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้เร่งรัดให้ใช้งบประมาณในปี 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง สพฐ.จะใช้งบประมาณส่วนนี้โดยเน้นไปที่การซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารเรียน ส่วนการสร้างอาคารเรียนใหม่ให้ดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็น ที่สำคัญจะต้องมีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งกรณีสนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐานและมีความผิดปกติในขั้นตอนการดำเนินการ ตามข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ขอให้ สพฐ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการและถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ด้วย.
ที่มาเนื้อหาและภาพประกอบจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ