คอลัมน์ Education Ideas ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย บริษัท อินสปายริ่ง วิสดอม จำกัด
เด็ก ๆ ที่ถูกผู้ปกครองทุบตีบ่อย ๆ ถูกว่า สบประมาท ตำหนิ ห้าม หรือถูกเปรียบเทียบกับพี่น้องของตน หรือคนอื่นบ่อย ๆ มักจะมีความกลัวในความล้มเหลวมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ถ้าล้มเหลวจะถูกตี ถูกว่า และโดนดูถูกเหยียดหยาม
ส่วนเด็กที่ไม่ค่อยถูกตี หรือถูกด่า แต่ถูกเลี้ยงด้วยเหตุผล มีโอกาสในการคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้อย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำ ก็จะมองความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับที่สูงมากขึ้น มองความล้มเหลวเป็นกระบวนการในการเรียนรู้ เด็กกลุ่มนี้จึงมีสุขภาพจิต และภูมิคุ้มกันทางจิตที่ดี เติบโตเป็นคนที่กล้าหาญ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เก่ง ดี มีสุข ประสบความสำเร็จในสิ่งต่าง ๆ ที่ทำ
แล้วจะทำ อย่างไรสำหรับคนไทยจำนวนมาก ที่ได้รับการเลี้ยงดู และมีประสบการณ์ชีวิตที่ชักนำไปสู่ความกลัวการล้มเหลวเสียแล้ว
มีวิธีขจัดความกลัวอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ วิธีแรกอาจดูโหดไปสักหน่อย ครูเคทเรียกว่า "กลัวซะให้จบ" ซึ่งครูเคทใช้บ่อย เป็นวิธีค่อนข้างจะซาดิสต์ แต่เวิร์กมาก นั่นคือกลัวอะไรก็พยายามทำสิ่งนั้นบ่อย ๆ เช่น กลัวการพูดต่อหน้าชุมชน ก็พยายามไปในที่ชุมชน หรือหาโอกาสพูดบ่อย ๆ ตอนที่ครูเคทอยู่สหรัฐอเมริกา และกลัวการพูดภาษาอังกฤษ ครูเคทก็สั่งตัวเองให้ออกไปช็อปปิ้ง และพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งให้ได้ทุกวัน เป็นต้น ที่ว่าวิธีนี้เวิร์กมาก เพราะในที่สุดความกลัวจะหายไป และกลายเป็นว่าเราพร้อมที่จะเผชิญกับความกลัวของเราเอง
สำหรับผู้ที่ยังทำใจไม่ได้ ก็ลองใช้วิธีที่สอง คือ "เป็นเพื่อนกับความกลัว" นั่นคือการอยู่กับความกลัว เช่น กลัวพูดภาษาอังกฤษ หรือกลัวถูกนายด่า ให้ยอมรับเสียก่อนว่ากลัว พอจะต้องพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่ง หรือกำลังจะถูกเจ้านายซักถามเรื่องงาน ก็ให้รู้ตัวเองว่าเรากลัว ก็จงสัมผัสความกลัวให้ได้ เช่น จับความรู้สึกว่าหัวใจเต้นโครมคราม มือเย็น มือสั่น ปากคอสั่น ฯลฯ แล้วก็พยายามพูดไปเรื่อย ๆ จนเริ่มสังเกตว่า ความกลัวมันจะเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดเวลา และท้ายที่สุดมันจะจบลง ไม่มีใครใจสั่นกันได้ทั้งวันทั้งคืนหรอกค่ะ
และคุณจะไม่เป็นอะไร อยากสั่น สั่นไป เดี๋ยวก็จบ
วิธีนี้ทำให้เราคุ้นเคยกับความกลัว จนรู้สึกว่าเราอยู่กับความกลัวได้ ไม่ต้องไปกังวลกับการขจัดความกลัวหรอกค่ะ ให้รู้ว่าคุณเป็นเพื่อนกับความกลัวได้ก็พอ
ลองใช้เทคนิคนี้กับตัวเอง หรือแนะนำลูกหลาน และลูกน้องทั้งหลายให้ค่อย ๆ เรียนรู้ แล้วความกลัวจะดูแตกต่าง และไม่เลวร้ายอย่างที่คิด คอลัมน์ต่อไปเรามาติดตามคุณสมบัติเด่นของคนที่ประสบความสำเร็จอื่น ๆ ต่อกันในคราวหน้า
ขอบคุณที่มา ประชาชาติธุรกิจ 05 ต.ค. 2557
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุณสมบัติของคนที่ประสบความสำเร็จ (1)