เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม กล่าวถึงการวางกรอบนโยบายด้านการศึกษา ว่า การปฎิรูปการศึกษาต้องทำต่อเนื่องและที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาหลายครั้ง และการปฏิรูปในยุคนี้เกิดขึ้นในช่วงที่การศึกษาทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งครูต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากผู้สอนมาเป็นเพื่อนช่วยหาความรู้ใหม่ ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการศึกษาทางไกลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นซึ่งเทคโนโลยี ครู หลักสูตรเนื้อหาต้องมีการพัฒนาคู่กันไป โดยเน้นจิตวิญญาณให้คนเป็นคนดีนอกจากความสำคัญด้านเนื้อหา ซึ่งกระทรวงศึกษาอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องการปฏิรูปอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าว ถามว่า มองว่าทิศทางการศึกษาไทยจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป เพราะที่ผ่านมาการศึกษาไทยถูกมองว่าล้มเหลว นายยงยุทธ กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่ดีอย่างที่ต้องการทั้งที่ทุ่มงบประมาณลงไปมาก จึงต้องมาดูว่าเพราะอะไรการทำงานจึงไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ซึ่งอาจเป็นเพราะงบไปอยู่ที่ส่วนกลางมากไปหรือโรงเรียนต่างๆสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมากไป ก่อนหน้านี้เราแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นต่างๆแต่ช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาเกิดการชะงักไปมาก จึงต้องกลับมาดูว่ามีปัญหาอะไร เช่น เป็นเพราะท้องถิ่นมีบุคลากรไม่เพียงพอ หรือภาคเอกชนยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอทั้งที่บางแห่งบริหารงานเป็นตัวอย่างที่ดี เห็นได้จากที่ภาคอาชีวะศึกษาสามารถผลิตคนได้ตามความต้องการ เราต้องกลับมาดูว่าจะร่วมมือกับเอกชนได้อย่างไร เป็นต้น ที่ผ่านมาการศึกษาในระดับบนของไทยก็ไม่ได้ล้มเหลวเห็นจากการแข่งขันระดับนานาชาติ ส่วนระดับล่างยอมรับว่ายังเป็นปัญหา ซึ่งเราต้องทำให้ดีขึ้นตามไปด้วยและให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนั้นเราพยายามที่จะทำให้การศึกษาของไทยเป็นที่ยอมรับ
ส่วนที่บอกว่าการศึกษาของไทยอยู่ลำดับที่ 5-6 ของอาเซียนและแพ้กัมพูชา และประเทศลาวนั้น ตนไม่เชื่อและมองว่าเรายังมีความสามารถอยู่บ้างซึ่งช่วงเวลา 1 ปี ของรัฐบาลนี้คือการวางรากฐานเอาไว้
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557