ศึกษาธิการ - สรุปคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 โดยนโยบายด้านการศึกษาได้กำหนดไว้ในข้อที่ 4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
คำแถลงนโยบายดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การเข้าบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้ แม้จะเป็นการใช้อำนาจและทำหน้าที่ตามกฎหมายดังที่รัฐบาลก่อนๆ เคยปฏิบัติมา แต่ก็มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาบางประการ อันทำให้รัฐบาลนี้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ อยู่บ้าง ในด้านเงื่อนไข รัฐบาลนี้เข้ามาสืบทอดงานและสานต่อภารกิจจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศไว้ก่อนแล้วเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่เมื่อเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
โดยระยะแรก ได้มุ่งเน้นระงับยับยั้งความแตกแยก ยุติการใช้กำลังและอาวุธสงครามก่อความรุนแรง แก้ไขผลกระทบจากการที่รัฐบาลและรัฐสภาก่อนหน้านั้นอยู่ในสภาพที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกตินานกว่า 6 เดือน ตลอดจนได้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน และมุ่งนำความสงบสุข ความสงบ กลับคืนสู่ประเทศ
จากนั้นเพียง 2 เดือน ก็เข้าสู่ ระยะที่สอง ด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ หลังจากนั้น คสช.จะลดบทบาทและภารกิจเป็นที่ปรึกษาและทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการพิจาณาหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ส่วนที่จะตามมาในเร็ววันคือ การจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะธรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อออกแบบวางรากฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอันมั่นคงให้แก่ประเทศ
ก่อนจะส่งผ่านไปสู่ ระยะที่สาม คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร และการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เงื่อนไขดังกล่าวถือเป็นพันธกิจที่รัฐบาลจะยังคงยึดมั่นและดำเนินการต่อไป
โดยที่มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนด หน้าที่ของรัฐบาลไว้ 3 ประการเป็นครั้งแรก คือ 1) การบริหารราชการแผ่นดิน 2) การดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ 3) การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ รัฐบาลจึงขอกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับหน้าที่ทั้ง 3 ประการดังกล่าวด้วย
ในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลมีนโยบาย 11 ด้าน โดยได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักสำคัญ ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งทรงเน้นความพอดีพอสมพอควรแก่ฐานะ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันมาเป็นแนวคิด ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แนวทางของ คสช. และความต้องการของประชาชน เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย ซึ่งนโยบายทุกด้านต้องการสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรการปกครองทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่นถึงประเทศ ต้องการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนและต้องการให้ประชาชนเกิดความชัดเจน รู้ล่วงหน้าว่าประเทศจะก้าวทางไหน เพื่อเตรียมตัวได้ถูกต้อง
นโยบายรัฐบาล 11 ด้าน คือ 1) การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2) การรักษาความมั่นคงของประเทศ 3) การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ 4) การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 5) การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน 6) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ 7) การส่งเสริมบทบาทและใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน 8) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม 9) การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 10) การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 11) ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
|
4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
รัฐบาลจะนำการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ และความเป็นไทย มาใช้สร้างสังคมให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรมควบคู่กัน ดังนี้
4.1 จัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้โดยมีความใฝ่รู้และทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ
4.2 ในระยะเฉพาะหน้า จะปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้เรียนและลักษณะพื้นที่ของสถานศึกษา และปรับปรุง และบูรณาการระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้ยากจนหรือด้อยโอกาส จัดระบบการสนับสนุนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีสิทธิเลือกรับบริการการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยจะพิจารณาจัดให้มีคูปองการศึกษาเป็นแนวทางหนึ่ง
4.3 ให้องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป มีโอกาสร่วมจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึง และร่วมในการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ กระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามศักยภาพและความพร้อม โดยให้สถานศึกษาสามารถเป็นนิติบุคคลและบริหารจัดการได้อย่างอิสระและคล่องตัวขึ้น
4.4 พัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต ปรับกระบวนการเรียนรู้และหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับภูมิสังคม โดยบูรณาการความรู้และคุณธรรมเข้าด้วยกันเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านความรู้ ทักษะ การใฝ่เรียนรู้ การแก้ปัญหา การรับฟังความเห็นผู้อื่น การมีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองดี โดยเน้นความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกโรงเรียน
4.5 ส่งเสริมอาชีวศึกษาและการศึกษาระดับวิทยาลัยชุมชน เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ
4.6 พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เน้นครูผู้สอนให้มีวุฒิตรงตามวิชาที่สอน นำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยครูหรือเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น การเรียนทางไกล การเรียนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งปรับระบบการประเมินสมรรถนะที่สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.7 ทะนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สนับสนุนให้องค์กรทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสันติสุขและความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมตามความพร้อม
4.8 อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภาษาไทยและภาษาถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อการเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไทย นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชน ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
4.9 สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านและวัฒนธรรมสากล และการสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นสากล เพื่อเตรียมเข้าสู่เสาหลักวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนและเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก
4.10 ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการผลิตสื่อคุณภาพ เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนและประชาชนได้มีโอกาสแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
|
|
ทั้งนี้ เมื่อการแถลงนโยบายสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลจะมอบหมายให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการดังกล่าว โดยจำกัดกรอบเวลา 1 ปีตามปีงบประมาณ และระยะเวลาของรัฐบาล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ติดตามและรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีและ สนช.ต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ