สนช.เปิดช่องขรก.กลับไปใช้บำเหน็จบำนาญ
สนช.เห็นชอบหลักการกม.เปิดช่อง ขรก.เลือกกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญมั่นใจไม่กระทบการดำเนินการ กบข.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบหลักการวาระแรก ร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 172 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียด 15 คน
ทั้งนี้ หลักการและเหตุผลสควรให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและผู้รับบำนาญ และทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่รับราชการ อยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติ หมวด 3 สมาชิก และสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ สามารถกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ได้
นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ สนช. อภิปรายว่า กฎหมายนี้จะให้เป็นเอกสิทธิ์ข้าราชการว่าจะเดินหน้าใช้ระบบกบข. หรือ จะกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญก็ได้ เพราะปัจจุบันประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์การเงินมาก ที่จะเป็นคู่แข่งกบข.การลงทุนมีทั้งได้และเสีย ดังนั้นจำป็นจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนว่าจะลงทุน หุ้นกู้ พันธบัตร หรืออะไรก็ตามในสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งเชื่อว่า กบข. จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. กล่าวว่า 2540 ขรก.ไม่เข้าใจเรื่องการนำเงินไปลงทุน เมื่อบำเหน็จ บำนาญรับเงินเดือนทุกเดือน ตัวพ.ร.บ. มีสมาชิกเกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ข้าราชการ ข้าราชการท้องถิ่น และ สมาชิกองถิ่น แต่กลับเปิดให้สมาชิกเพียงแค่กลุ่มเดียวคือข้าราชการเลือกกลับไปใช้สิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ทำไมถึงไม่เปิดให้อีกสองกลุ่มสามารถกลับมาใช้สิทธิได้ นอกจากนี้ สมาชิก กบข.
พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ สนช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจะให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยมีทางเลือก แต่มีบางมาตราที่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย อย่างมาตรา 13 ผู้ใดจะแปรสภาพจาก กบข. มาเป็นบำเหน็จบำนาญจะต้องสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2558 มิฉะนั้น ผลที่อยากเปลี่ยนสภาพจะเป็นอันสิ้นสุด ดังนั้น ความเห็นส่วนตัวน่าจะผ่อนปรน แทนที่จะให้คืนเงินทั้งหมดเป็นนำส่วนต่างเงินบำนาญมาชดใช้คืน หรือใช้เงินบำนาญมาผ่อนชำระเป็นรายเดือน
นายธานี อ่อนละเอียด สนช.กล่าวว่า กฎหมายนี้จะทำให้เกิดสิทธิ์ กับข้าราชการ 7 แสนราย และผู้รับบำนาญ รวมเกือบ 1 ล้านราย ซึ่งหากกรณีสมาชิกกบข.แห่ออกจาก กบข. จะส่งผลกระทบปั่นป่วนตลาดหรือไม่ หรือกรณีที่สมาชิกกบข.เหลืออยู่น้อย จะมีผลกระทบหรือไม่ ในกรณีสมาชิกจำนวนมากแห่ลาออก ทางกบข. หรือกรมบัญชีกลางได้ศึกษาผลกระทบเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าหรือไม่
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กรณีข้าราชการขอกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญจะไม่มีผลกระทบกับข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ ซึ่งจะได้รับเงินคืนจาก กบข. และสะสมดอกผล โดยที่ กบข.ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเงินที่จะส่งคืนรายบุคคลนั้น รัฐไม่ได้เอาเงินออกมาเข้าคลัง แต่เก็บไว้ในกบข.เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนบัญชีเป็นเงินสำรอง
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อจากนี้ กบข.ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกอยู่ระบบกบข.ต่อ มีแต่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมามีการพูดกันว่าวันนั้นถูกหลอก ตอนนี้จึงจะเป็นการให้ข้อมูล ซึ่งมีฐานข้อมูลข้าราชการ 9.7 แสนคน พร้อมฐานเงินเดือน และได้ทำโปรแกรมคำนวณรายละเอียดไว้เรียบร้อย เตรียมส่งไปรษณีย์ให้แต่ละคนได้ประกอบการพิจารณาซึ่งจะต้องไปตัดสินใจร่วมกับ สุขภาพ ครอบครัว และแม้จะลาออกจากกบข.จำนวนมากก็ไม่มีผลกระทบเพราะไม่ได้นำเงินออกจากบัญชีของกบข.
น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวว่า กรณีที่ไม่เปิดให้ข้าราชการท้องถิ่น หรือ ข้าราชการมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนเลือกกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญเพราะ ก่อนหน้านี้เคยเปิดให้ตัดสินใจตอนโอนไปอยู่กับท้องถิ่นแล้วว่าจะเลือกอยู่กับกบข.หรือไม่ ดังนั้นรอบนี้จึงไม่ได้เปิดให้ทั้งสองกลุ่มได้ใช้สิทธิ์เลือก และไม่สามารถเปิดให้ข้าราชการบำนาญที่ไม่สามารถหาเงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย มาคืนในระยะเวลาที่กำหนดเปิดผ่อนชำระได้
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 สิงหาคม 2557