กรมส่งเสริมคุณภาพ สิ่งแวดล้อม วิจัยพบรถยนต์ใช้แก๊สโซฮอล์ ทำสารก่อมะเร็งกลุ่มคาร์บอนิล เกินมาตรฐาน 5 เท่า ระบุพื้นที่เสี่ยง อนุสาวรีย์ฯ พระราม 5 สุขุมวิท ดอนเมือง รัชดาฯ
นางเดซี่ หมอกน้อย นักวิจัยด้านอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ปริมาณการแพร่กระจายของสารประกอบคาร์บอนิลในอากาศในเขตกทม. ระหว่างปี 2549-2551” ในงานสัมมนาวิชาการทิศทางการวิจัย กับการแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพราะปัญหาน้ำมันราคาแพง ในน้ำมันประเภทดังกล่าวมีสารพิษกลุ่ม คาร์บอนิล ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และอยู่ในกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs)
ทั้งนี้ พบว่าหลายประเทศที่ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ อาทิ บราซิล ที่ใช้สัดส่วนเอทานอลถึง 100% ก็มีสารก่อมะเร็ง ในกลุ่มคาร์บอนิลสูงตามมา และในไทยขณะนี้เตรียมจะเพิ่มสัดส่วนปริมาณ เอทานอลมากขึ้นจากเดิมที่กำหนด 15% เป็น 85%
จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างใน เขตกทม. พบสารมลพิษกลุ่มคาร์บอนิล 10 ชนิด อาทิ ฟอร์มัลดีไฮด์ อะเซทัลดีไฮด์ อะซีโทน และอะโครรีน มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป แต่ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ชนิด คือ ฟอร์มัลดีไฮด์ และอะเซทัลดีไฮด์ พบว่ามีระดับความเข้มข้นเกินมาตรฐานเฝ้าระวังของหน่วยงานประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสหรัฐ ซึ่งได้ประเมินความเสี่ยงของคนที่รับสารชนิดนี้เพียง 1.23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) อย่างต่อเนื่อง จำนวน 40 ต่อ 1 ล้านคน มีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง
สำหรับบริเวณที่มีค่าความเข้มข้นของสารฟอร์มัลดีไฮด์ 10.6 มคก./ลบ.ม. สูงเกินระดับความเสี่ยงของสหรัฐอเมริกา 5 เท่า และถือว่าสูงกว่าในเมืองโอซากา ของญี่ปุ่น และเมืองออนแทริโอ ของแคนาดา 3-5 เท่า ได้แก่ ริมถนนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนพระราม 5 รัชดาภิเษก สุขุมวิท และดอนเมือง
ผลดังกล่าวจึงเสนอให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนดมาตรฐานสาร ทั้งสองชนิดเพิ่มเติมในบัญชีสารอินทรีย์ระเหยง่ายก่อมะเร็ง ที่กำหนดมาตรฐานไว้ 9 รายการ
ที่มา โพสต์ทูเดย์