Advertisement
"อินดี้" รวยเกินวัย กำไรเกินเท่าตัว (SMEs ชี้ช่องรวย)
เรื่อง : นันทิดา โพนจ้อย
ในขณะที่โลกกว้างขึ้น เพราะการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ทำให้ทุกคนคิดและทำอะไรคล้ายคลึงกันไปหมด แต่ในสังคมทุกยุคทุกสมัยก็มักจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่รักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรในสไตล์ที่แตกต่าง โดยไม่แคร์ว่ากระแสตลาดจะกำลังเห่อหรือนิยมอะไรอยู่ก็ตาม จึงมีการขนานนามคนกลุ่มนี้ว่า "อินดี้" (Indie) ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Independence
คนอินดี้มักจะให้ความสำคัญกับการเลือกประกอบอาชีพที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยตัวเอง หันหลังให้กับงานที่ต้องเริ่มต้นจากการเป็นลูกน้องที่มีเจ้านายมาบงการชีวิต และต้องใช้เวลานานในการไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า แม้ว่างานนั้นจะมีความมั่นคงและสวัสดิการพร้อมเพียงใด แต่คนอินดี้กลับสุขใจที่ได้เป็นเจ้านายตัวเอง เช่น เป็นศิลปิน นักเขียน นักวาดการ์ตูน ดีไซเนอร์ อาชีพอิสระ รวมไปถึงการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ปัจจุบันจะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น ด้วยตัวเลขอายุนักธุรกิจที่น้อยลง บางคนยังอยู่ในวัยเรียนด้วยซ้ำ แต่สามารถสร้างรายได้มากกว่าคนวัยทำงาน ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางบ้านได้อย่างน่าภูมิใจ เพราะประตูบานใหญ่ของโลกออนไลน์ได้เปิดโอกาสให้อินดี้ Gen Y นำเสนอผลงานที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้นในหลาย ๆ ช่องทาง เพื่อเข้าถึงลูกค้าในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche)
แต่จะมีธุรกิจอะไรที่สามารถเริ่มต้นและประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เรามีไอเดียมาเสนอวัยรุ่น วัยเรียน ที่พร้อมเปลี่ยนเป็นวัยรวยทั้งหลาย
ธุรกิจส่วนตัว ค่านิยมคน Gen Y
ยุคนี้เด็กรุ่นใหม่มีความสนใจที่่จะประกอบธุรกิจส่วนตัวสูง โดยเฉพาะคน Gen Y (คนที่เกิดปี 2523-2540) ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับความไฮเทคของเทคโนโลยี สามารถใช้อุปกรณ์ทันสมัย เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก ได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งใช้เทคโนโลยีหาคำตอบให้กับทุก ๆ เรื่องได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ คน Gen-Y ที่เป็นนักศึกษาและกลุ่มเริ่มต้นทำงาน จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นเจ้าของกิจการตัวเอง มากกว่าการเป็นลูกจ้างรับเงินเดือน เพราะมองเห็นโอกาสที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในอนาคต ที่สำคัญพวกเขามีความกล้าที่จะเสี่ยงลงทุน และหวังว่าสิ่งที่ตัวเองคิดและทำด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนทักษะความสามารถที่มีนั้น จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่มองหาความแตกต่าง หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ในท้องตลาด
อีกปัจจัยที่ส่งเสริมความกล้าในการเริ่มต้นทำธุรกิจเล็ก ๆ ของอินดี้วัยทีน คือการได้เห็นคนในวัยเดียวกันประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจ เช่น "ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์" ที่ตั้งบริษัทผลิตสาหร่ายทอดกรอบ “เถ้าแก่น้อย” ในขณะที่มีอายุ 19 ปี หรือ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" นักศึกษาฮาร์วาร์ด วัย 20 ปี ที่ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์สร้างเฟซบุ๊กขึ้นมา จนกลายเป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งสองถือเป็น "ไอดอล" ที่คนรุ่นใหม่อยากเจริญรอยตาม
วัยรุ่นสหรัฐฯ นำเทรนด์ "รวยก่อนวัย"
แนวโน้มที่วัยรุ่นหันมาบุกเบิกทำธุรกิจเป็นของตัวเอง และประสบความสำเร็จหรือพูดง่าย ๆ ว่า "รวยก่อนวัย 30 ปี" จึงเป็นกระแสที่มาแรงมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้อย่างในสหรัฐอเมริกาเองก็มีนักธุรกิจอายุ 18-25 ปี พากันแห่เปิดบริษัท ในขณะที่วัยรุ่นไทยนั้น เอเจนซีมายด์แชร์ เคยทำสำรวจเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ Gen Y พบว่า มีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นนักสร้างสรรค์ มีการนำศิลปะไปต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ ๆ และใช้เทคโนโลยีออนไลน์มาเป็นเครื่องมือและช่องทางจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ เช่น การเปิดเว็บไซต์ให้ลูกค้าทั่วโลกสามารถออกแบบกางเกงมวยไทยได้เอง การเปิดร้านเสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์เฉพาะบุคคล การสร้างสรรค์เมนูอาหารที่แปลกใหม่ เป็นต้น
ธุรกิจฮิต ของคนสายพันธุ์อินดี้
หลายคนเลือกใช้เวลาว่างที่มีอยู่ "ผลิตสินค้าตามไอเดีย" เช่น สกรีนลายเสื้อ ตกแต่งเคสมือถือ แล้วสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยให้ไม่ต้องลงแรงผลิตเองให้เสียเวลา เช่น การซื้อหาหรือนำเข้าสินค้าที่ไม่ซ้ำใครในตลาดมาจำหน่ายทำกำไรต่อ
ส่วนใครที่ยังอยากจะมีสินค้าเป็นของตัวเอง อาจนำสูตรไอเดีย หรือแบบร่างที่คิดไว้ ไปจ้างบริษัทมืออาชีพเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นสินค้าที่จับต้องได้ เช่น เครื่องสำอาง พร้อมติดแบรนด์ให้เสร็จสรรพ นี่คือทางลัดที่ช่วยตอบโจทย์การทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจที่ได้รับความนิยมลงทุนจากวัยรุ่น วัยเรียน วัยเริ่มต้นทำงาน หรือผู้ที่รักอิสระมี ดังนี้
► ร้านกาแฟอินดี้ ยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย และแม้ในตลาดจะมีแฟรนไชส์แบรนด์ดังให้เลือกลงทุนมากมายเพียงใด แต่คนสายพันธุ์อินดี้ที่มีกำลังหน่อย ก็ยังยินดีที่จะออกแบบตกแต่งร้านกาแฟในสไตล์ของตัวเองมากกว่า รวมทั้งมองหาวัตถุดิบใหม่ ๆ มาสร้างสรรค์เมนูกาแฟและเครื่องดื่มอื่น ๆ ภายในร้าน โดยไม่คำนึงถึงผลกำไร แต่อยากให้คอกาแฟได้มาจิบกาแฟในบรรยากาศใหม่ ๆ ที่ต่างออกไป โดยร้านกาแฟแนวคาเฟ่อินดี้นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่หนุ่มสาวนักศึกษาและคนวัยทำงาน ที่นิยมมาใช้บริการในวันว่างกัน
► เสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อยืดสกรีนถือเป็นสินค้าที่ขายได้ตลอด และได้รับความนิยมจากคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ด้วยการแข่งขันที่สูง ใครที่คิดจะสกรีนเสื้อขายในเวลานี้ จะต้องรู้จักสร้างจุดเด่นของสินค้า เช่น ลายสกรีนบนเสื้อ ที่ไม่ซ้ำแบบใครในตลาด หรือแทนที่จะแขวนเสื้อขาย ก็นำเสื้อไปใส่ในแพ็กเกจจิ้งที่ดูแปลกตา อาทิ กระป๋อง ถุงผ้า เข่งปลาทู ฯลฯ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำกำไรได้มากกว่า 5 เท่าตัว หรือผู้ที่มีฝีมือด้านการดีไซน์ ก็สามารถออกแบบตัดเย็บหรือพิมพ์ลายเสื้อผ้าตามแบบที่ต้องการ เช่น ชุดเดรสสไตล์วินเทจ นอกจากเปิดหน้าร้านขายเอง ยังสามารถขายส่งให้กับผู้ที่สนใจได้ด้วย
► เครื่องสำอางและอาหารเสริม ตลาดความงามถือเป็นตลาดที่ใหญ่ มีมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการ Gen Y ที่รักสวยรักงาม กระโดดเข้ามาขอร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาด นอกจากจะซื้อหรือนำเข้าเครื่องสำอางและอาหารเสริมมาจำหน่าย หลาย ๆ คนยังฝันที่จะมีสินค้าความงามภายใต้แบรนด์ตัวเอง สมัยนี้ก็มีโรงงานหรือบริษัทรับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM เพียงมีเงิน 5,000 บาท ก็สามารถสั่งผลิตครีมตามสูตรหรือสารสกัดที่ต้องการ พร้อมใส่กระปุกติดแบรนด์เรียบร้อย ให้ผู้ลงทุนนำไปทำการตลาด ขายต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
► เครื่องประดับและสินค้าแฟชั่น ชาวอินดี้มักจะมีสไตล์การแต่งตัวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และจุดนี้เองก็นำมาซึ่งการสร้างสรรค์สินค้า จำพวกเครื่องประดับและสินค้าแฟชั่นประเภทต่าง ๆ นำเสนอสไตล์ของตัวเองเป็นทางเลือกให้กับคนที่มีรสนิยมเดียวกัน อย่างรองเท้าแตะแฟชั่นที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกสีสัน และมิกซ์ส่วนประกอบของรองเท้า 1 คู่ได้อย่างอิสระ เช่น พื้นรองเท้า หูคีบ รวมทั้งวัตถุดิบตกแต่งอย่างเพชร ดาว มุก ตุ๊กตาไม้ ฯลฯ ก็ถูกใจลูกค้าทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ชอบอะไรที่ไม่ซ้ำซากจำเจ และอยากจะเป็นเจ้าของสินค้าที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง
► งานฝีมือแฮนด์เมด วิชาความรู้ที่ได้จากหนังสือประเภทประดิดประดอย มีส่วนสร้างเถ้าแก่รุ่นใหม่มานักต่อนัก เริ่มต้นจากเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งจำหน่าย นำมาเย็บปักถักร้อยตามแพทเทิร์น หรือตกแต่งประกอบขึ้นตามไอเดียของตัวเอง จนได้กระเป๋าไหมพรม สร้อยข้อมือแฮนด์เมด สมุดบันทึกทำมือ งานหนัง ฯลฯ ฝีมือคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนน้อย แต่สามารถตั้งราคาขายกว่าเท่าตัว โดยมูลค่าสินค้าขึ้นอยู่กับการออกแบบและฝีมือในการทำหากชิ้นงานสวย คนรักงานแฮนด์เมดก็พร้อมที่จะจ่าย งานอดิเรกเลยกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับหนุ่มสาวอินดี้ได้อย่างน่าสนใจ
► แอคเซสเซอรี่มือถือ ความนิยมใช้สมาร์ทโฟนของคนยุคนี้ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการขยายตัวตามไปด้วย โดยคนรุ่นใหม่นิยมลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์เคส เพื่อรับพิมพ์ลายบนเคสแบบคัสตอมเมด และรับกำไร 5 เท่าตัวส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มครีเอทีฟหรือนักออกแบบที่มีความสามารถในการออกแบบลวดลายบนเคส และมีความสนใจขยายไลน์มาผลิตสินค้าออกขาย เพื่อรองรับพฤติกรรมของคนไทยที่มีการเปลี่ยนเคสมือถือทุก ๆ 2 เดือน และสำหรับตลาดมือถือที่ไม่มีเคสรองรับ ปัจจุบันก็มีฟิล์มกันรอยที่มีลวดลายมาช่วยสร้างสีสันให้มือถือของลูกค้า รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ลงทุน
"พรีออเดอร์" ช่องทางลดความเสี่ยง
สินค้าอินดี้ก็ต้องขายแบบอินดี้ ที่มีอิสระในการนำเสนอสินค้าของตัวเองให้โดนใจลูกค้าที่ตามหาตัวตนที่แตกต่าง โดยกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความนิยม มีหลายช่องทาง
► เปิดพรีออเดอร์ทางโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางที่นักค้ารุ่นใหม่นิยมกันมาก ข้อดีคือ เงินไม่จม ไม่ต้องลงทุนผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ หรือสั่งซื้อสินค้ามาเก็บไว้เป็นสต็อก แต่รอให้ลูกค้าเข้ามาดูรายการสินค้าที่โพสต์ไว้ทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แล้วคลิกสั่งซื้อสินค้าพร้อมโอนเงินมาก่อนเพื่อเป็นการการันตี ถึงจะลงมือผลิตหรือสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ก่อนจะจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า
จะเห็นได้ว่าเพียงอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็สามารถมีรายได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนเปิดหน้าร้าน แต่ผู้ที่ขายออนไลน์ก็ต้องลงทุนกับการถ่ายภาพ หมั่นอัพเดทข้อมูล ตอบคำถามลูกค้าด้วยความฉับไว เพื่อให้ลูกค้ารู้ความเคลื่อนไหวของร้าน มีความรับผิดชอบในเรื่องของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ บริการที่ตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้ากลับมาอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง
► เปิดหน้าร้าน/ขายแบกับดิน สินค้าบางอย่างต้องมีหน้าร้านประจำ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัสจับต้อง และรับประสบการณ์ความแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร นอกจากหน้าตาเมนูอาหารต้องสวย บรรยากาศร้านก็ต้องดี โดนใจกลุ่มคนแนวใดแนวหนึ่ง ที่จะหยิบมือถือมาแชะและแชร์ภาพให้เพื่อน ๆ อิจฉา อย่างไรก็ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่ก็ไม่ควรทิ้งการตลาดออนไลน์ โดยควรเปิดหน้าร้านควบคู่ไปกับการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการหาทำเลเปิดร้านก็ง่าย ๆ คือ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะขายอยู่ที่ใด ก็ไปตั้งร้านที่นั่น เช่น ลูกค้าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ต้องหาทำเลย่านสถานศึกษา หรือห้างสรรพสินค้าที่วัยรุ่นนิยม หรือตึกแถวบริเวณใกล้เคียง ส่วนผู้ประกอบการ Gen Y หลายคนที่ไม่มีหน้าร้านประจำ แต่จะมีจุดนัดหมายกับลูกค้าขาประจำตามตลาดนัดอินดี้ เช่น เซ็นเตอร์พอยท์ @ เซ็นทรัลเวิลด์ตลาดอินดี้ ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดนัดชุมชนของคนวัยมัน เพราะคนขายและคนซื้อต่างก็เป็นวัยรุ่นด้วยกันทั้งนั้น โดยแม่ค้าพ่อค้าอายุน้อย จะปูผ้า วางพร็อพประกอบการขายสินค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาชมและจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าชิ้นที่ถูกใจ
ฝึกเป็นอินดี้ที่มีวินัยทางการเงิน
คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากศึกษารูปแบบการทำธุรกิจ ตลอดจนสร้างสรรค์การทำการตลาดออฟไลน์และออนไลน์มาอย่างดี แต่กลับมาตกม้าตายในเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่คนวัยนี้มักมองข้าม "การบริหารการเงิน" ไป
สิ่งที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ควรมีเมื่อลงมือทำธุรกิจคือ วินัยทางการเงิน ตั้งแต่การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายควรแบ่งนำเข้าบัญชีเงินออม สำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียน อีกส่วนควรใช้ลงทุนเพิ่มเพื่อขยายการผลิต หากพิจารณาแล้วว่าธุรกิจไปได้สวย สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด น้ำขึ้นก็ควรรีบลงทุน
ข้อสำคัญ ไม่ควรนำเงินมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพื่อความบันเทิง เพื่อความสะดวกสบายเหมือนเช่นแต่ก่อน ในเมื่อตัดสินใจลงสนามธุรกิจแล้ว ก็ควรเรียนรู้ที่จะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เสียสละความสุขบางส่วน เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต เชื่อเถอะว่าการมีเงินหมุนเวียนที่เพียงพอ นอกจากจะอุ่นใจ ยังช่วยลดความเสี่ยงมิให้ธุรกิจต้องปิดตัวเร็วก่อนเวลาอันควร
นอกจากนี้ การซื้อข้าวของหรือวัตถุดิบที่จำเป็นในการทำธุรกิจ ก็ควรตรวจสอบราคาจากหลาย ๆ แหล่งเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพและราคาให้ดี หรือหากมีส่วนลดหรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ก็ควรพิจารณาเลือกใช้อย่างเหมาะสม แล้วอินดี้หัดทำธุรกิจจะพบว่าเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง คือโจทย์การเริ่มต้นทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้มีเงินทุนไม่มากนัก แต่สิ่งที่มีเหนือใครคือ "ความคิดสร้างสรรค์" ที่ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเดิม ๆ ทักษะความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุด เมื่อประกอบกับความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ก็ก่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ
ขอบคุณที่มาจาก http://money.kapook.com/view95153.html
Advertisement
เปิดอ่าน 15,823 ครั้ง เปิดอ่าน 10,325 ครั้ง เปิดอ่าน 16,012 ครั้ง เปิดอ่าน 13,966 ครั้ง เปิดอ่าน 14,388 ครั้ง เปิดอ่าน 18,821 ครั้ง เปิดอ่าน 19,516 ครั้ง เปิดอ่าน 16,574 ครั้ง เปิดอ่าน 24,114 ครั้ง เปิดอ่าน 3,380 ครั้ง เปิดอ่าน 16,545 ครั้ง เปิดอ่าน 12,210 ครั้ง เปิดอ่าน 17,103 ครั้ง เปิดอ่าน 44,636 ครั้ง เปิดอ่าน 17,196 ครั้ง เปิดอ่าน 12,988 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 9,758 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 2,516 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 25,378 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,930 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,411 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 25,784 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,875 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 3,253 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,255 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,246 ครั้ง |
เปิดอ่าน 41,329 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,602 ครั้ง |
|
|