การเพาะถั่วงอกคอนโดฯ เป็นหนึ่งผลงานวิจัยที่กรมวิชาการเกษตรได้นำมาจัดแสดงในงาน โดยมีศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เป็นเจ้าของผลงาน
คุณอารดา มาสริ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเรื่องการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้จากการเพาะถั่วงอกไปสร้างเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว
ทั้งนี้ ถั่วงอกคอนโดฯ นอกจากจะมีการเพาะที่ง่าย สะดวก และใช้ระยะเวลาน้อย เพียง 3 วัน ผู้เพาะจะสามารถนำถั่วงอกไปจำหน่ายได้ อีกทั้งยังปลอดสารพิษด้วย และที่สำคัญยังเป็นการเพาะที่เน้นการใช้ภาชนะที่หาได้ง่าย เช่น ในถังพลาสติกสีดำ หรือขวดน้ำมันพืชและหม้อดิน
ในที่นี้จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ ปลอดสารพิษในถังพลาสติกสีดำ โดย คุณอารดา บอกว่า อุปกรณ์สำคัญในการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ ประกอบด้วย
- เมล็ดถั่วเขียวคุณภาพดี โดยถั่วเขียว 1 กิโลกรัม จะสามารถเพาะถั่วงอกได้ ประมาณ 5 กิโลกรัม
- ถังพลาสติกสีดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เจาะรูระบายน้ำที่ก้นภาชนะ 1 รู (ขนาด 0.5 นิ้ว)
- ตะแกรงลวดวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ขาสูง ประมาณ 1.5 นิ้ว
- ตะแกรงพลาสติกสีดำ ตัดเป็นวงกลม ขนาดเท่าภาชนะเพาะ จำนวน 4 ชิ้น
- กระสอบป่าน ตัดเป็นวงกลม ขนาดเท่าภาชนะเพาะ จำนวน 5 ชิ้น
- อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถังแช่เมล็ด สายยาง น้ำสะอาด กะละมัง ตะแกรงล้างถั่วงอก
วิธีการเพาะ
1. ใช้เมล็ดถั่วเขียว ประมาณ 500 กรัม แช่เมล็ดในน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ประมาณ 6 ชั่วโมง
2. ล้างเมล็ดถั่วเขียวที่แช่ให้สะอาด โดยล้างเอาสิ่งเจือปนและเมล็ดพองตัวออกทิ้ง
3. ล้างเมล็ดถั่วเขียวที่แช่ในน้ำสะอาด แล้วใส่ในภาชนะที่เตรียมเพาะ โดยโรยและเกลี่ยเมล็ดให้เสมอกันบนตะแกรงพลาสติกชั้นแรกล่างสุด (ความหนาของเมล็ดที่เพาะ ประมาณ 1 เซนติเมตร) ปิดทับด้วยกระสอบ จากนั้น ชั้นที่ 2-4 ทำเหมือนกับชั้นแรก รวม 4-5 ชั้น แต่ไม่เกิน 5 ชั้น นำไปไว้ในที่ร่มและเย็น
4. รดน้ำทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง
5. เมื่อเพาะถึง วันที่ 3 นำถั่วงอกที่ได้มาตัดราก ล้างเอาเปลือกถั่วเขียวออก จะได้ถั่วสำหรับบริโภค ประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้สนใจต้องการเพาะถั่วงอกในแบบการค้า คุณอารดา ให้ข้อมูลว่า มีเทคนิคการเพาะที่ต้องใส่ใจ เช่น
- การเลือกเมล็ดถั่วเขียว ต้องเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดี ไม่ใหม่หรือเก่าเกินไป เมล็ดไม่ถูกฝนในระยะการเก็บเกี่ยว ปลอดโรคแมลงทำลาย อายุเก็บรักษา ประมาณ 3-6 เดือน เพราะเมล็ดใหม่จะมีเมล็ดแข็ง ประมาณ 5-20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเก่าจะเป็นเมล็ดเสื่อมคุณภาพ
- ภาชนะเพาะถั่วงอก เป็นภาชนะที่มีผิวเรียบทรงกระบอก หรือมีปากภาชนะแคบเล็กน้อย เพื่อจำกัดพื้นที่ในการงอกให้ถั่วงอกมีลักษณะอวบอ้วน และภาชนะควรมีสีดำป้องกันแสงสว่าง ทำให้ถั่วงอกมีสีขาว
- การเพาะเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ แช่เมล็ดเพาะเพื่อช่วยเร่งระยะเวลาการเพาะถั่วงอกให้เร็วขึ้นในชั่วโมงแรกของการแช่น้ำ ควรเลือกเมล็ดที่พอง เมล็ดแตก เมล็ดเหล่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้ถั่วงอกเน่าได้
- น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการงอก ควรเป็นน้ำสะอาด การให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอ ให้ในปริมาณที่มากพอ
- ระยะในการเพาะถั่วงอก ประมาณ 3-4 วัน ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ภาชนะ วัสดุเพาะ
- การใช้สารเคมีกับถั่วงอก สามารถใช้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารส้ม แช่ถั่วงอก เพื่อช่วยให้ถั่วงอกกรอบมีสีขาว แต่ไม่ควรใช้สารฟอกขาว เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ โซดาไฟ ฟอร์มาลีน เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น
สำหรับผู้สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอก สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 405-080-1
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์