ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 25/2557 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เวลา 8.30-10.15 น. ซึ่ง ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานการประชุม
ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 สิงหาคม) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลัก ได้เข้าพบและประชุมหารือกับ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาด้านสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ
ที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการศึกษาสั้นๆ 4-5 ประเด็น เพื่อเป็นแนวทางนโยบายให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา เตรียมนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรัฐบาลชุดใหม่ โดยสาระสำคัญของร่างข้อเสนอดังกล่าว จะมีประเด็นสำคัญ เช่น
- การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวแก่ผู้เรียนทุกระดับการศึกษา เพราะเงินอุดหนุนรายหัวไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว ดังนั้นหาก ศธ.ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้นทั้งระบบ จะทำให้ประชาชนได้รับโอกาสเรียนฟรีจริงๆ
- การแก้ปัญหาขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้มีทักษะอาชีพ เข้ามาเป็นครูอาชีวะได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรเพิ่มคุณภาพครูผู้สอนระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน เช่น ส่งเสริมให้ไปเข้ารับการฝึกอบรมทักษะอาชีพใหม่ๆ หรือนำเอาทักษะอาชีพจากสถานประกอบการต่างๆ เข้ามาในสถานศึกษาให้มากขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังบุคลากรอาชีวศึกษา ซึ่ง สอศ.มีอัตราลูกจ้างชั่วคราวจำนวนมาก แต่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าวุฒิการศึกษา จึงเห็นควรให้มีการปรับเพิ่มกรอบอัตรากำลัง พร้อมทั้งให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาเท่าเทียมกับองค์กรหลักอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ลูกจ้างสังกัดต่างๆ ได้มีโอกาสเป็นพนักงานราชการหรือข้าราชการต่อไป
- การเพิ่มประสิทธิภาพผู้บริหารระดับต้นและระดับสูง ซึ่ง ศธ.จะเสนอให้เพิ่มอัตราตำแหน่งของผู้บริหารระดับต้นและระดับสูงให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการสรรหาแต่งตั้งให้มีความยืดหยุ่น/เลื่อนไหลได้ นอกจากนี้ได้มีการหารือในเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวง โดยเฉพาะการแยก สกอ.เป็นกระทรวง และการปรับโครงสร้างหน่วยงานต่างๆ ของ สพฐ./สป.ด้วย แต่ที่ปรึกษาด้านสังคมจิตวิทยาเห็นว่าต้องนำไปพิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศ
- แนวทางการจัดการศึกษาของ กศน./สช./สอศ. ควรร่วมกันพัฒนากำลังคนของผู้จบการศึกษาดังกล่าว ให้สอดคล้องตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือกลุ่มทำงานในสถานประกอบการ
- สอศ.ควรจะมีห้องเรียนเฉพาะทางหรือสถานศึกษาเฉพาะทางให้มากขึ้น และกระจายในทุกภูมิภาค
- ค่านิยมของการเรียนอาชีวศึกษา ควรเร่งแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของผู้เรียนอาชีวะ โดยให้นักศึกษาอาชีวะได้มีโอกาสใช้ทักษะฝีมือเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชนให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนเข้ามาเรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ศธ.จะรวบรวมประเด็นและความคิดเห็นจากที่ประชุม เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการศึกษา ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามเสนอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยาพิจารณาต่อไป
การวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชา ตามข้อสั่งการของ หน.คสช.
ตามที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สนย.สป.) ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมองค์กรหลัก ให้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชา เพื่อเสนอเป็นยุทธศาสตร์และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามข้อสั่งการของ หน.คสช. โดยได้สังเคราะห์จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์ของไทยสูงขึ้นทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้กว่า 7,160 ล้านบาท แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 7,670 ล้านบาท ผลกระทบอย่างมากของการกวดวิชา คือ ค่าเรียนในโรงเรียนกวดวิชามีราคาแพง และทำให้นักเรียนต้องออกไปเรียนนอกบ้าน
ผลการวิจัยยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ หากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรจะมีการพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน มีการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากขึ้น มีการปรับระบบการสอบคัดเลือกในระดับชั้นต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
ที่ประชุมรับทราบผลการวิจัยดังกล่าว พร้อมทั้งมอบ สนย.เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาในเรื่องปัญหาโรงเรียนกวดวิชา ในช่วงเดือนกันยายน 2557 ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจเป็นวงกว้างจากทั้งสังคม และจะทำให้ได้รับทราบข้อมูล/ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำยุทธศาสตร์และการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว
ขั้นตอนและกระบวนการเสนอชื่อผู้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า จากการที่มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้มีการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น เห็นว่าทั้ง 5 องค์กรหลัก ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน จึงสามารถเสนอชื่อบุคคลตามมติ อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ.กระทรวงแล้วแต่กรณี เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ โดยให้แต่ละนิติบุคคลเสนอชื่อบุคคลได้ไม่เกิน 2 ชื่อ ตามมาตรา 10 และมาตรา 11(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557
โครงการเสริมสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการของคนไทย (สำนักงาน กศน.)
ที่ประชุมรับทราบ สำนักงาน กศน.ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการของคนไทย เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการเสริมสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการของคนไทย ประกอบด้วย 1) มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน 3) กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ 4) ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม 5) รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย 6) มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ 7) เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย 8) มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 9) มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ 10) รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 11) มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส 12) คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
โดยมีแนวทางดำเนินการที่สำคัญ คือ จัดทำคู่มือการดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานในสังกัดใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งจะชี้แจงทำความเข้าใจ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ มีการปรับปรุงหลักสูตร กศน.ในรายวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต และลูกเสือเนตรนารียุวกาชาด และจะมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างค่านิยมหลักผ่านกระบวนการเรียนรู้ของ กศน. เช่น ค่ายพัฒนาผู้นำค่านิยมหลัก การรณรงค์ให้ความรู้ในชุมชน ฯลฯ
นอกจากนี้ สำนักงาน กศน.จะดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน คัดเลือกและมอบประกาศเกียรติคุณ "ผู้นำค่านิยมหลัก 12 ประการ" ให้กับประชาชนในหมู่บ้านที่ปฏิบัติตรงกับค่านิยมหลัก โดยนำร่องอำเภอละ 1 หมู่บ้าน รวม 928 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างค่านิยมหลักให้เกิดขึ้นได้ในชุมชน โดยกำหนดให้มีการมอบประกาศเกียรติคุณในทุกไตรมาส และหากผู้ได้รับมอบประกาศนียบัตรได้รับการคัดเลือกครบทุกไตรมาสในหนึ่งปี จะมีการมอบเข็ม "ผู้นำค่านิยมหลัก 12 ประการดีเด่น" ให้บุคคลนั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลอื่นในชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ จะเริ่ม Kick Off โครงการดังกล่าวทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป
โครงการวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ พ.ศ.2557 (สำนักงาน กศน.)
ที่ประชุมรับทราบ สำนักงาน กศน.ได้กำหนดจัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ พ.ศ.2557 ในวันที่ 8 กันยายน 2557 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จ.ชลบุรี เพื่อใช้โอกาสดังกล่าวในการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนและสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ โดยปีนี้ได้กำหนดกรอบแนวคิดในการจัดงาน คือ "UNESCO : Literacy and Sustainable Development สำนักงาน กศน. : การรู้หนังสือเพื่อการสร้างสันติภาพ ปรองดอง และสมานฉันท์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน พร้อมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ในวันดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 10.00-11.00 น.
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ