สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูทุกท่าน ช่วงนี้เป็นช่วงระยะเวลา "งดเหล้าเข้าพรรษา" สถานี ก.ค.ศ. จึงจะขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ รวมทั้งการมึนเมาสุราจนเสียราชการ ซึ่งมักมีคำถามว่า ดื่มสุราในเวลาราชการเป็นความผิดวินัยหรือไม่ เป็นคำถามยอดฮิตของคนในสังคมเมื่อพบข้าราชการ มีอาการมึนเมาจากการดื่มสุราในเวลาราชการ คำตอบที่ได้อาจจะเป็นไปตามความเข้าใจของตน บางคนว่าผิดวินัย บางคนว่าไม่ผิด เนื่องจากสุราเป็นของคู่กับความเป็นอยู่ของสังคมไทยเป็นเวลาช้านานมาแล้ว ในงานรื่นเริงหรือวันสำคัญต่างๆ อาจมีการนำสุรามาเลี้ยงดูกัน สร้างบรรยากาศของผู้คนที่อยู่ในงาน
สำนักงาน ก.ค.ศ. ขอเรียนว่าเรื่องการดื่มสุราของข้าราชการนั้น ทางราชการก็เห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้วางกรอบให้ข้าราชการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติว่าข้าราชการผู้ใดเสพสุรามึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ ซึ่งอาจทำให้เสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการให้พิจารณาการลงโทษตามควรแก่กรณี ส่วนข้าราชการผู้ใดเสพสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือเมาสุราเสียราชการหรือเมาสุราในที่ชุมชนจนเกิดเรื่องเสียหายหรือเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการอาจถูกลงโทษสถานหนักถึงปลดออก หรือไล่ออกจากราชการได้ ซึ่ง ก.ค.ศ. สมัยที่เป็น ก.ค. (เดิม) ได้เคยมีมติให้ซักซ้อมความเข้าใจกรณีข้าราชการครูเสพสุรา โดยให้ข้าราชการครูระมัดระวังเกี่ยวกับการเสพสุรา ให้ผู้บังคับบัญชาควบคุมดูแล กวดขัน แนะนำ หรือว่ากล่าวตักเตือนข้าราชการครูที่ชอบเสพสุราและประพฤติตนไม่เหมาะสม ถ้าปรากฏว่าข้าราชการครูผู้ใดกระทำผิดกรณีเสพสุราและผู้บังคับบัญชาไม่อาจลงโทษในสถานหนักตามมติคณะรัฐมนตรีได้ หรือผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีแล้ว แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผู้บังคับบัญชาก็อาจพิจารณาให้ข้าราชการครูผู้นั้นออกจากราชการกรณีประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการได้
แต่อย่างไรก็ตาม ข้าราชการครูที่ดื่มสุราและอาจเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน อาจถูกลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง กรณีไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2557 แต่ถ้าหากดื่มสุราที่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว อาจถูกลงโทษ สถานหนักถึงปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ กรณีกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ค่ะ แล้วพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้า
ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557