ร่างข้อเสนอ Roadmap ปฏิรูปการศึกษา
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ เพื่อพิจารณาร่างข้อเสนอแนะ Roadmap การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน พ.ศ.2558-2569 ของกระทรวงศึกษาธิการ
ปลัด ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างข้อเสนอแนะ Roadmap การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน พ.ศ.2558-2569 ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ได้จัดทำร่างไว้ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อคิดเห็นจากหลายด้าน คือ
• การจัดเวทีสาธารณะ : ปฏิรูปการศึกษา เพื่อปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2557
• การประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557
• ข้อเสนอทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอีเมลการปฏิรูปการศึกษา
• นโยบายและแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้กล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 และการมอบนโยบายแนวทางเส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย (Roadmap for Thailand Reform) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 เช่น การปฏิรูปคน การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ค่าใช้จ่ายในการเรียน ปัญหาการกวดวิชา การศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา การบริหารเวลาให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัว ลดการเรียนพิเศษ ให้เด็กได้ช่วยเหลืองานบ้าน เพื่อสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว ฯลฯ
โดย ศธ.ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาและวิเคราะห์ พร้อมทั้งจะระบุไว้ใน Roadmap การปฏิรูปการศึกษา พร้อมทั้งจะได้เพิ่มค่านิยมหลัก 12 ประการ รวมทั้งการสร้างคน สร้างสังคม และครอบครัวที่อบอุ่น เข้าไปในวิสัยทัศน์และเป้าหมาย เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานตาม Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2558) ระยะปานกลาง (ปี 2559-2564) และระยะยาว (ปี 2565-2569)
ทั้งนี้ การดำเนินการตาม Roadmap ระยะเร่งด่วน (ปี 2558) ได้กำหนดไว้ 9 เรื่อง ดังนี้
• ปรับหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนถึงระบบวัด ประเมินผล และการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ ต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคนของประเทศ และการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยด้วย โดยเฉพาะการปรับหลักสูตร ลดเวลาเรียน ลดการเรียนวิชาที่ไม่มีความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมเกี่ยวกับทักษะชีวิต ตลอดจนค่านิยมหลัก 12 ประการ เพื่อให้เด็กสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ในส่วนของระบบการประเมินผลและการศึกษาต่อในแต่ละช่วงชั้น จะปรับให้สอดคล้องกับหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน
• ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา เพื่อให้มีสุภาพชนคนอาชีวะ สร้างค่านิยม ยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอาชีพและท้องถิ่น
• ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่จะนำไปสู่การพัฒนาบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ตลอดจนผลิตและพัฒนาอาจารย์ระดับปริญญาเอก
• ปรับโครงสร้างของ ศธ. เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา และส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยส่วนกลางมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนเท่านั้น และในส่วนของพื้นที่จะเป็นผู้ทำงาน รวมทั้งประเด็นการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งมีเหตุผลเนื่องมาจากการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีปรัชญาและแนวทางแตกต่างจากการจัดการศึกษาระดับพื้นฐาน เพื่อความคล่องตัวและอิสระ โดยในส่วนของรายละเอียดจะต้องให้ สกอ. เป็นผู้นำเสนอกฎหมายขึ้นมา
• การได้มาซึ่งครูและอาจารย์ที่ดีและเก่งในถิ่นทุรกันดาร ทั้งในระดับการศึกษาพื้นฐาน จนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งส่งผลไปสู่การปรับระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครูด้วย
• การได้มาซึ่งผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการและองค์คณะบุคคลในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษา เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• การส่งเสริมการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
• การปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ เพราะที่ผ่านมา ศธ.จัดเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนทุกคนตามกฎหมาย และตามที่กฤษฎีกาตีความว่า “เห็นควรจะต้องได้รับในอัตราที่เท่ากัน” แต่ในความเป็นจริง นักเรียนมีความต้องการไม่เท่ากัน ดังนั้น ศธ.จึงยึดหลักในการพิจารณา 3 ด้าน คือ 1) หลักความเสมอภาค กล่าวคือ ในส่วนหนึ่งจะต้องจัดเงินอุดหนุนในอัตราพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับการสนับสนุนที่เท่าๆ กัน 2) หลักความเป็นธรรม เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการมากกว่า และนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งก็มีศักยภาพอย่างพอเพียง ซึ่งอาจจะมีความต้องการน้อยกว่าหรือไม่ต้องการเลยก็เป็นไปได้ ฉะนั้นในเรื่องของความเป็นธรรม คนที่มีความต้องการมากกว่า ก็ควรจะได้รับการสนับสนุนมากกว่า เช่น นักเรียนที่ยากจน หรืออยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เด็กด้อยโอกาส 3) หลักความพอเพียง คือ เมื่อให้ไปแล้วต้องมีความพอเพียง และรับประกันได้ว่าจะพอเพียงต่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
• แผนแม่บทการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่จะต้องปรับปรุงให้มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด
เป้าหมาย Roadmap
• สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษากับสายสามัญ ในปี 2564 เพิ่มเป็น 50:50 และในปี 2569 เพิ่มเป็น 60:40
• สัดส่วนการจัดการศึกษาภาครัฐกับเอกชน เพิ่มขึ้นจาก 80 : 20 เป็น 70:30 ในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 65:35 ในปี 2569
• ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) จะต้องเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ในทุกสาขาวิชา
• อัตราการเรียนต่อ มีผู้จบการศึกษาภาคบังคับร้อยละ 100 กล่าวคือ ทุกคนต้องจบการศึกษาภาคบังคับ
• อัตราการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องเป็น 0
กลไก
• การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
• การจัดทำแผนพัฒนาคน 5 ช่วงวัย ตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
• การตั้งคณะกรรมการหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ และในระยะยาวอาจจะจัดตั้งสถาบันหลักสูตร เนื่องจาก ศธ.ไม่มีหน่วยงานเกี่ยวกับวิชาการ มีเพียงสำนักวิชาการในสังกัด สพฐ.เท่านั้น
• การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก จะต้องมีการขยาย/นำร่องรูปแบบการศึกษาที่ดี
• คณะกรรมการในระดับจังหวัด เพื่อดูแลเกี่ยวกับความต้องการกำลังคน การจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกลุ่มจังหวัด/จังหวัด
ทั้งนี้ จะนำเสนอร่าง Roadmap ให้ที่ประชุมองค์กรหลักพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 จากนั้นก็จะนำเสนอต่อหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง และเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ