โรงแรมริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี - ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้มี การปรับปรุงแก้ไข และยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 โดยมี รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายจิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณาจารย์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมจำนวนกว่า 300 คน
ดร.รัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานการจัดการประชุมว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมจริยธรรม และให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้วางหลักการและกรอบในการจัดการศึกษาของไทย โดยใช้กลไกกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
ดังนั้น เมื่อบริบททางเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในประเทศและสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเอื้ออำนวยต่อการบริหารและจัดการศึกษาด้วย จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการศึกษา และเพื่อจัดทำข้อเสนอในการให้มี ปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
ปลัด ศธ. กล่าวแสดงความชื่นชม สกศ.ที่จัดสัมมนาในประเด็นการปรับแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกอบกับการประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ได้ระบุให้การศึกษาเป็น 1 ใน 11 ประเด็นที่ต้องปฏิรูป รวมทั้งการที่หัวหน้า คสช.ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา และได้เคยกล่าวถึงการจัดการศึกษาไว้ว่า การศึกษาเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาคน คนจะไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และคนจะไปปฏิรูปประเทศต่อไป
ในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้ ศธ.ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งเนื้อหาในภาพรวมระบุเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการศึกษาไว้อย่างครอบคลุมแล้ว ทั้งแนวการจัดการศึกษาที่กำหนดให้จัดการศึกษาตามศักยภาพที่แตกต่างกันของผู้เรียน การวิจัย การจัดการศึกษาโดยบูรณาการกับการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน การศึกษาเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การจัดการศึกษาต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการมีระบบการตรวจสอบและประเมินผล
อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะเกิดขึ้นกว่า 15 ปีแล้ว มีหลายเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ ศธ. ก็ยังดำเนินการไม่ได้ เช่น พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งมีกองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษาเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มี พ.ร.บ. ทำให้การบริหารกองทุนไม่ครบวงจร, พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล หรือการจัดกลุ่มสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการการศึกษาตามศักยภาพสถานศึกษา ตลอดจนกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา กองทุนพัฒนาการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายที่เกิดขึ้นแล้ว มีหลายเรื่องที่นำไปปฏิบัติแล้วเกิดปัญหาและอุปสรรค จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข และดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป
สำหรับกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การออกแบบและจัดระบบการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ (สกศ.) พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน พ.ร.บ.สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.25542 ที่จะต้องมีการพิจารณาวิเคราะห์ทบทวนเนื้อหาในแต่ละหมวด แต่ละมาตรา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทสังคมและสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ สกศ.ได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์รายหมวด รายมาตราแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
ปลัด ศธ. กล่าวถึงการนำกฎหมายไปใช้ว่า ขอให้ใช้กฎหมายเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา กฎหมายไม่ควรเป็นตัวนำ เพราะบางครั้งกฎหมายเป็นอุปสรรค จึงไม่ควรนำกฎหมายมาเป็นอุปสรรคในการคิด ดำเนินการ หรือพัฒนาการปฏิรูปการศึกษา แต่กฎหมายควรเป็นกลไกสนับสนุนให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ได้กล่าวฝากขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้ และผู้มีประสบการณ์ ได้ระดมความคิดเห็น และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย ข้อบังคับ กฎระเบียบเพิ่มเติม รวมทั้งการปรับแก้หรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษา โดยมองไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย โดยเฉพาะในประเด็นการประกันคุณภาพภายใน/ภายนอก เรื่องเกี่ยวกับครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษา การบริหารจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น เช่น การลดหย่อน/ยกเว้นภาษีเกี่ยวกับอุปกรณ์/วัสดุนำเข้าเพื่อการศึกษาสำหรับภาคเอกชน ในส่วนของ อปท. อาจจะต้องปรับกฎระเบียบให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น
ทั้งนี้ ศธ.จะรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นทั้งหมดไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและการขับเคลื่อน Road Map การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ด้วย
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ