โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น - กระทรวงศึกษาธิการ จัดเวทีสาธารณะ : ปฏิรูปการศึกษา เพื่อปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2557 ระหว่างเวลา 9.00-15.30 น. เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา และขับเคลื่อนการศึกษาในเชิงรุก นำไปสู่ Roadmap การปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2558-2564 ที่สอดคล้องกับ Roadmap การปฏิรูปประเทศไทย
►ภาคเช้า
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา และขับเคลื่อนการศึกษาในเชิงรุก โดย ศธ.ได้ร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ตามนโยบายและเจตนารมณ์ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ที่ได้เน้นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา
สำหรับร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2558-2564 มีกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษา ใน 6 ประเด็น ได้แก่ ปฏิรูปครู เพิ่มและกระจายโอกาสอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ปฏิรูปการบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ปฏิรูปการเรียนรู้ และวางระบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
โดยได้กำหนดกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการระดับชาติ พร้อมทั้งเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาจากเด็กและเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจ จำนวน 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ปฏิรูปการศึกษา : www.edreform.moe.go.th เฟซบุ๊ก ThailandEdReform และอีเมล : edreform@moe.go.th
จากนั้นจะรวบรวมประเด็นจากเวทีสาธารณะและช่องทางทั้งหมด สรุปเสนอ คสช.เพื่อเป็นประเด็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การยกร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา และเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาด้านสังคมจิตวิทยา คณะที่ปรึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาของประเทศแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยด้วย ซึ่งได้เสนอให้ปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และปฏิรูปการเรียนรู้จากข้างในออกไปข้างนอก หรือจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ใน 5 ประเด็น ดังนี้
- สิทธิและโอกาสของผู้เรียน โดยเสนอให้รัฐควรให้สิทธิและโอกาสแก่ผู้เรียน โดยจัดบัตรทองการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกสถานที่เรียนได้ อุดหนุนโรงเรียนและสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนตามผลการประเมินที่เป็นที่ยอมรับและความนิยมของผู้เรียน ให้แรงจูงใจในการเรียนบางสาขาที่สำคัญ เช่น อาชีวศึกษา ปรับระบบการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ทั้งเพียงพอและมีการใช้คืน ตลอดจนถึงให้ทุกคนมีโอกาสเรียน รวมทั้งคนพิการและคนไร้สัญชาติ
- ผู้เรียนได้ครูที่ดีและรับผิดชอบ นำครูกลับสู่ห้องเรียน ประเมินครูโดยใช้ผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน เปลี่ยนบทบาทครูเป็นผู้นำทางการเรียนรู้ ปรับให้มีระบบคัดเลือกและอบรมครูที่ดี ให้คนเก่งได้เป็นครู รวมทั้งให้ ผอ.โรงเรียนทำหน้าที่ครูใหญ่อย่างเต็มที่และอยู่ประจำโรงเรียน
- ผู้เรียนมีหลักสูตรและสื่อการศึกษาที่ดี จัดหลักสูตรสร้างความรู้และทักษะของผู้เรียนและความต้องการของสังคมยุคใหม่ จัดหาและพัฒนาสื่อ
- ผู้เรียนมีสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกสถานศึกษาที่ดี จัดให้มีการเรียนทั้งในและนอกห้องเรียน เช่น โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นต้น ครอบครัวเอาใจใส่การเรียนและบรรยากาศในบ้านเอื้อต่อการเรียนรู้ ตลอดจนสื่อมวลชนและสิ่งแวดล้อมทั่วไปต้องส่งเสริมความใฝ่รู้ของผู้เรียนด้วย
- ผู้เรียนได้งานที่ดี และสามารถใช้ความรู้ความชำนาญจากการเรียน โดยเสนอให้จัดระบบการวัดฝีมือแรงงานที่มีเอกภาพ มีความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและการจ้างงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า โจทย์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ จะทำอย่างไรให้การใช้งบประมาณภาครัฐกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี มีประสิทธิภาพในการเพิ่มพูนคุณภาพการศึกษา ซึ่งได้เสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใน 7 ประเด็น ดังนี้
- มุ่งมั่น ทุกฝ่ายจะต้องมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
- พัฒนาคุณภาพครู โดยฝึกปฏิบัติจริงและสร้างการเรียนรู้เน้นให้ครูนำไปต่อยอด สำหรับครูเอง จะต้องมีความเป็นครู มีอุดมการณ์ และทัศนคติเหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนทำหน้าที่สอนเป็นหลัก มีการกำหนดมาตรฐานครูใหม่ ปรับระบบการสอนและบรรจุครูให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ และเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถมาเป็นครู
- งบประมาณ ควรลงไปถึงตัวเด็กและโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนโดยตรง
- ปรับระบบบริหารจัดการใหม่ ให้ผู้บริหารทุกระดับและครูมีความรับผิดและรับชอบ ปรับระบบการการย้ายโอนครู กระจายอัตราครูอย่างเป็นธรรมทั่วถึง หลอมรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และรักษาโรงเรียนที่จำเป็น เช่น โรงเรียนบริเวณชายแดน รวมทั้งให้โรงเรียนที่มีศักยภาพได้เป็นนิติบุคคลและมีอิสระในการบริหารงาน
- จัดการศึกษาสำหรับคนทุกภาคส่วน ต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยพ่อแม่ควรเป็นครูคนแรกของลูก จัดให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำสำหรับพื้นที่พิเศษ เช่น บริเวณชายแดน ชายขอบ พื้นที่พิเศษ ตลอดจนจัดให้มีโรงเรียนสอนวิชาชีพ
- จัดหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนที่สร้างการคิดเป็น ความใฝ่รู้ และการมีคุณธรรม ซึ่ง ศธ.ควรเลือกคุณลักษณะที่สำคัญเพียง 1-2 ประเด็น เพื่อมุ่งพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การมีวินัย การเรียนรู้ ความเป็นพลเมือง พร้อมจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่ดี โดยเฉพาะวิชาหน้าที่พลเมือง ควรแยกเป็นอีกวิชาและมีหนังสือเรียนต่างหากจากวิชาสังคม
- การเมือง ไม่ควรให้เรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกแซงการศึกษาหรือมีผลประโยชน์ต่อครู โดยจะต้องช่วยกันคิดต่อไปว่า จะทำอย่างไรไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงระบบการศึกษา
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กำจร ตติยกวี เลขาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เสนอว่า การจะพัฒนาคนให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา โดยเริ่มต้นจากบ้าน คือมีพ่อแม่ พี่น้องที่ดี ครอบครัวอบอุ่น ออกมาเจอสังคมที่ดี ได้แก่ เพื่อนบ้าน ชุมชน และโรงเรียน ตลอดจนถึงเสนอให้มีช่วงเวลาที่สื่อมวลชนทุกแขนงได้นำเสนอเรื่องการศึกษา เรียกว่า “Time for Education” และควรจัดสื่อถาวรเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ได้เสนอว่า ควรเพิ่มบทบาทของนักเรียนในการเป็นผู้ช่วยครู ทั้งในคณะกรรมการและในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และได้ทำงานจริง เน้นสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ เข้าใจ และคิดนอกกรอบ กระตุ้นให้โรงเรียนอยากเปลี่ยนแปลงตนเอง และจัดมีโรงเรียนเตรียมอาชีพ
รองศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอว่า ควรเปลี่ยนระบบการศึกษาเป็นระบบรัฐกึ่งสวัสดิการ เพื่อช่วยคนด้อยโอกาส และลดบทบาทของส่วนกลาง เน้นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ให้มากขึ้น ตลอดจนแปรค่านิยมจาก 12 ประการ ให้เหลือเพียง 5 ประการ และปฏิรูประบบหลักสูตรให้เน้นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คุณธรรมและวัฒนธรรมไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ข้อเสนอว่า ควรหามุมมองและวิธีแก้ไขหรือปฏิรูปเชิงระบบแบบใหม่ โดยเสนอว่าควรปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนถึงจัดบทบาทของกระทรวง โรงเรียน ผู้เรียน และองค์กรที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ควรกำหนดคุณค่าของเด็กไทยให้ชัดเจน และไปสู่การปฏิบัติ เช่น ขยัน พากเพียร รักชาติ มีวินัย โดยครูควรสอนเรื่องเกี่ยวกับชีวิต มีความรักเด็ก และเปิดโอกาสให้คนดีมาเป็นครู ผู้อำนวยการโรงเรียนควรอยู่ประจำโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง มีการให้ทุนกับเด็กขาดแคลนจริงๆ ในส่วนของภาคเอกชนต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือการศึกษา ร่วมจัดหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น ครูคลังสมอง สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ควรเน้นเกี่ยวกับการรู้เขารู้เรา และความเท่าเทียมทั้งนี้ เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้มีการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ
►ภาคบ่าย
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวถึงการปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษาตาม Roadmap ของ ศธ. ใน 2 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้ Smart Classroom เป็นเครื่องมือในการช่วยครูเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับการปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกวิชา รวมถึงการใช้ Smart Technology ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องทันสมัยที่สุด แต่ครูต้องสามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
นายวุฒิชัย วันทมาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และตัวแทนสมาคม EIS แห่งประเทศไทย (English for Integrated Studies Association of Thailand) เสนอให้มีการพัฒนาครูไทยให้สอนเป็นภาษาอังกฤษได้ใน 4 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ และสถาบันอุดมศึกษาควรจะสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนเพื่อนำไปสอนวิชาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษได้
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวนี ทองโรจน์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เสนอให้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มาจากหน่วยงานต่างๆ และนำไปสู่แผนการศึกษาแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ต้องมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน กำหนดการบรรลุเป้าหมาย มีการประเมินผลให้ได้ข้อมูลย้อนกลับ การประเมินผลควรจะทำแบบครบวงจร คือ มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลให้ชัดเจน จึงต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการติดตามและดูแล ไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานในสังกัด ศธ.
นายจิตรพงศ์ พุ่มสอาด ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน มีความเห็นว่า ควรจะดูสถานการณ์ของภาคแรงงานในปัจจุบันเพื่อออกแบบการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขณะนี้ระบบการศึกษาผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ แรงงานไทยมีประสบการณ์ มีทักษะฝีมือ แต่การศึกษาน้อย ด้อยคุณวุฒิ ทำให้ไม่สามารถไปสู่การจ้างงานในระดับที่สูงขึ้นได้ เพราะการจ้างงานในประเทศไทยเน้นที่คุณวุฒิเป็นหลัก จึงต้องการให้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือภาคการศึกษาโดยไม่ใช้งบประมาณ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแรงงาน และปฏิรูปการศึกษานอกระบบให้ทันสมัยมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนอมาตยกุล กล่าวว่า ควรเน้นความสำคัญการใช้วิธีการด้านบวกในการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถเรียนรู้ได้ดี เนื่องจากผู้เรียนจะมีความสุขกับการเข้าเรียนและมีความสุขกับตัวเอง
นางภัทราดา ยมนาค ผู้แทนจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้มีการเร่งสร้างมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของผู้เรียนในโรงเรียนนานาชาติ เร่งพัฒนาครูไทย และจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Services) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ครูชาวต่างชาติที่มาสอนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
นายทศ ลิ้มสดใส ประธานสภานักเรียนไทย กล่าวว่า หลักสูตรในปัจจุบันมีการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เช่น การออกค่ายอาสา การพัฒนาชุมชน เป็นต้น จึงต้องการให้มีช่องทางประชาสัมพันธ์กิจกรรมของนักเรียนผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งให้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เข้มข้นและเพียงพอต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อลดการกวดวิชา
ศาสตราจารย์ ดร.ปานศิริ พันธุ์สุวรรณ ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอให้มีการพัฒนาครูผู้สอนในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากครูผู้สอนในระดับอุดมศึกษามักจะเป็นผู้ที่จบการศึกษาเฉพาะทาง จึงไม่รู้วิธีการหรือขั้นตอนการสอนที่ถูกต้อง ปรับทัศนคติของสังคมที่เน้นการเรียนให้ได้ใบปริญญามากกว่าการเรียนให้ได้ความรู้ และให้สถาบันการศึกษาส่งเสริมความรู้ความสามารถของผู้เรียนที่ด้อยโอกาส หรือเรียนได้ในระดับปานกลาง ไม่เพียงแต่สนับสนุนผู้เรียนที่เรียนเก่งเท่านั้น
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการแก้ไขระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน หรือแอดมิชชั่น ควรจะมีระบบที่ชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น กำหนดจำนวนนักศึกษาที่เหมาะสมของแต่ละสถาบัน โดยพิจารณาจากแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต จัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาตามจุดเน้นหลัก เช่น มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับการวิจัยควรจะเน้นการทำวิจัย มหาวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควรจะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม หรือ มหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ควรจะต้องวางจุดเน้นของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน การจัดทำระบบการรับรองคุณวุฒิที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเสนอให้รัฐบาลเชิญชวนมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 10 หรือ 20 ของโลกมาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของไทย
ปลัด ศธ. กล่าวภายหลังการเสวนาว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอหลายเรื่องเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน มีทั้งประเด็นที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม จากนี้ ศธ.จะนำความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ไปสานต่อ หากมีเรื่องที่ต้องการแก้ไข ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมอีกหลายครั้ง เพื่อแตกโจทย์และทำให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น และนำไปสู่การจัดทำร่างกรอบแนวทางการขับเคลื่อน Roadmap การปฏิรูปการศึกษาที่สอดคล้องกับ Roadmap การปฏิรูปประเทศไทย ทั้งนี้จะมีการนำข้อเสนอแนะมาสังเคราะห์และสรุปในแต่ละประเด็นในเบื้องต้น เพื่อเสนอต่อฝ่ายสังคมจิตวิทยา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในต้นเดือนสิงหาคม
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ