Advertisement
การมีรถยนต์ไว้ใช้งานถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะถ้าอยู่กันเป็นครอบครัว หากไม่มีรถยนต์ การเดินทางเพื่อรับ-ส่งลูกไปโรงเรียน ก็คงทุลักทุเลพอสมควร ส่วนใครที่ประกอบอาชีพค้าขาย รถยนต์ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในกระบวนการขนส่งสินค้า ดังนั้นหลาย ๆ คน จึงใฝ่ฝันที่จะมีรถยนต์ไว้ในครอบครองสักคัน แน่นอนว่า กว่าจะได้รถยนต์มาใช้สักคันนั้นต้องมีเงินก้อนเป็นจำนวนหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อรถควรวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในกรณีจำเป็นด้วย
ทั้งนี้ สำหรับคนที่มีรถอยู่แล้วอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ไฟแนนซ์ และ รีไฟแนนซ์ เป็นอย่างดี แต่สำหรับมือใหม่ที่อยากมีรถคันแรกไว้ในครอบครอง เราได้รวบรวมรายละเอียดเรื่องสินเชื่อรถยนต์มานำเสนอ เพื่อช่วยให้เห็นแนวทางในการเตรียมตัวก่อนซื้อรถได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมองหาตัวช่วยอื่น ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระค่างวด
การจัดไฟแนนซ์รถยนต์คืออะไร
การจัดไฟแนนซ์ เรียกเป็นภาษาทางการ คือ การเช่าซื้อ เป็นหนึ่งในวิธีการขอสินเชื่อเพื่อนำมาผ่อนชำระค่ารถในแต่ละงวด ในปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถยนต์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สถาบันการเงินเอกชนต่าง ๆ หรือแม้แต่บริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์บางยี่ห้อ ที่หันมาจับธุรกิจสินเชื่อรถยนต์เพื่อจูงใจผู้ซื้อพิจารณารถยนต์ของบริษัทตนเองมากขึ้น ซึ่งหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่พิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อนั้น ย่อมแตกต่างกันออกไปตามนโยบายของบริษัท
การจัดไฟแนนซ์เช่าซื้อรถยนต์มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. การเช่าซื้อรถยนต์ใหม่จากตัวแทนจำหน่ายโดยตรง เช่น Toyota Leasing, Honda Leasing, Isuzu Leasing , Nissan Leasing, BMW Leasing, Mercedes-Benz Leasing เป็นต้น
2. การเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วหรือที่เรียกว่ารถมือสอง สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
2.1 ซื้อรถใช้แล้วหรือรถมือสองผ่านแหล่งขายรถมือ 2 โดยตรง เช่น เต็นท์รถ, ห้างขายรถมือสองของตัวแทนจำหน่ายรถใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ทางผู้ขายมักมีสถาบันการเงินไว้คอยบริการจัดไฟแนนซ์อยู่แล้ว
2.2 ซื้อรถใช้แล้วหรือรถมือสองจากบุคคลอื่น เช่น ซื้อจากเครือญาติ เพื่อน คนรู้จัก หรือ ซื้อจากเว็บไซต์ลงประกาศขายรถทั่วไป สำหรับในข้อนี้ ผู้ซื้ออาจต้องติดต่อกับสถาบันการเงินหรือสถาบันที่รับจัดไฟแนนซ์ด้วยตนเอง หรืออาจขอให้เต็นท์รถจัดการเรื่องไฟแนนซ์ให้ ซึ่งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อความสะดวกนั่นเอง
ขั้นตอนการจัดไฟแนนซ์รถยนต์
สำหรับผู้ต้องการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงเพื่อนำไปใช้งาน แต่กลับพบอุปสรรคใหญ่คือการไม่มีเงินก้อนเพียงพอ จนต้องหาหนทางอื่น ๆ บริการสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ (Hire Purchase) และ ลีสซิ่ง (Leasing) ที่ผู้เช่าซื้อสามารถทยอยจ่ายค่างวดได้ตามกำลังทรัพย์ และนำสินค้านั้นมาใช้งานได้ทันที ซึ่งถือว่า การขอเชื่อเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้มีงบประมาณจำกัด แต่สัญญาทั้ง 2 แบบนี้ จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เรามีรายละเอียดมาให้พิจารณา ดังนี้
สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase)
มีลักษณะคล้ายกับการซื้อสินค้าเงินผ่อน แต่ต่างกันตรงที่ว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังไม่เป็นของเราจนกว่าจะชำระค่าสินค้านั้นครบ กล่าวคือ จะมีการทำสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่า ว่าจะมีการชำระค่าสินค้าเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนด โดยระหว่างนั้นเราสามารถนำสินค้าหรือทรัพย์สินนั้นมาใช้งานได้ก่อนแต่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ จนกว่าจะจ่ายเงินครบตามสัญญาจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นมาเป็นของเรา
ลีสซิ่ง (Leasing)
มีลักษณะคล้ายกับสัญญาเช่าซื้อ คือ เราจะต้องชำระเงินค่าเช่าเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาเช่า ต่างกันตรงที่เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่า จะซื้อต่อสัญญาเช่าหรือส่งคืนทรัพย์ดังกล่าวไปยังผู้ให้เช่า ทั้งนี้ ผู้ที่ทำสัญญาสินเชื่อลีสซิ่ง มักเป็นบริษัทหรือนิติบุคลที่ต้องการเช่าทรัพย์สินที่มีราคาแพงหรือเช่าทรัพย์สินในปริมาณมาก เช่น เครื่องจักร รถยนต์ หรืออาจเป็นการเช่าสินค้าที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น คอมพิวเตอร์สำนักงาน เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ลีสซิ่งยังแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) และ สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) โดยมีความแตกต่างในด้านของราคาทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน รวมถึงอายุสัญญา ตามตารางดังนี้
นอกเหนือจากเรื่องกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์แล้ว สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) และ ลีสซิ่ง (Leasing) ยังแตกต่างกันในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คือ
- สัญญาเช่าซื้อ จะคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ (Flat rate) โดยดอกเบี้ยจะถูกคิดจากเงินต้นซึ่งคงที่ตลอดอายุสัญญา
- สัญญาลีสซิ่ง จะคิดดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) โดยคำนวณจากเงินต้นที่ลดลงในแต่ละงวด ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดลดลงไปด้วย
ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยสัญญาเช่าซื้อและลีสซิ่ง
หากเราต้องการรถยนต์ที่มีราคา 500,000 บาท ระยะเวลาผ่อนไม่เกิน 2 ปี (24 งวด) อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี การคำนวณอัตราดอกเบี้ยจะมีวิธีการดังนี้
แบบที่ 1 สัญญาเช่าซื้อ คิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ (Flat rate)
สูตรการคำนวณ
วิธีคิด
1. คำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น
= 500,000 x 12% x 2 ปี
= 120,000 บาท
2. คำนวณเงินผ่อนต่องวด
= (500,000 + 120,000) ÷24
= 25,834 บาทต่องวด
สรุป ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินทั้งหมดเท่ากับ 500,000 + 120,000 = 620,000 บาท โดยทยอยผ่อนเดือนละ 25,834 บาท
แบบที่ 2 ลีสซิ่ง คิดดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)
สูตรการคำนวณ
หากผู้ให้เช่า กำหนดให้จ่ายเงินงวดเท่ากับ 23,537 บาทต่องวด สามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยด้วยวิธีการดังนี้
งวดที่ 1
1. คำนวณดอกเบี้ยงวดที่ 1 = (500000 x 12%) ÷ 12
= 5,000 บาท
2. คำนวณเงินต้นจ่ายงวดที่ 1
= 23,537 - 5,000
= 18,537 บาท
3. คำนวณเงินต้นคงเหลือจากการจ่ายงวดที่ 1
= 500,000 -18,537
= 481,463 บาท (จะเป็นเงินต้นสำหรับคำนวณดอกเบี้ยในงวดที่ 2)
งวดที่ 2
1. คำนวณดอกเบี้ยงวดที่ 2 = (481,463 x 12%) ÷ 12
= 4,815 บาท
2. คำนวณเงินต้นจ่ายงวดที่ 2
= 23,537 – 4,815
= 18,722 บาท
3. คำนวณเงินต้นคงเหลือจากการจ่ายงวดที่ 1
= 481,463 -18,722
= 462,741 บาท (จะเป็นเงินต้นสำหรับคำนวณดอกเบี้ยในงวดที่ 3)
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ อัตราดอกเบี้ยของสัญญาเช่าซื้อและลีสซิ่ง อาจไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการแต่ละแห่ง เช่นเดียวกับเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินหลายแห่ง ได้นำมาใช้เป็นจุดจูงใจให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาสินเชื่อที่มีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้นผู้เช่าซื้อควรพิจารณาเงื่อนไขในเรื่องผลประโยชน์อย่างรอบคอบ ด้วยการตรวจสอบจากสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการที่ให้บริการดังกล่าวโดยตรง
ส่วนคำถามที่ว่า อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก แบบไหนเสียดอกเบี้ยน้อยกว่ากัน เมื่อลองเปรียบเทียบแล้ว พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก เมื่อชำระค่างวดไปแล้ว ดอกเบี้ยจะถูกลดไปพร้อมกับเงินต้นที่ลดลงทุกงวด ขณะที่อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ดอกเบี้ยถูกคิดจากเงินต้นเริ่มแรกเพียงครั้งเดียว ก่อนเฉลี่ยจ่ายในแต่ละงวด ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอกจะเสียดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่นั่นเอง
ทั้งนี้ หลังจากเลือกรูปแบบสัญญาที่ต้องการได้แล้ว ผู้เช่าซื้อต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครดิตของบริษัทรับจัดไฟแนนซ์ที่เราติดต่อไว้ เพื่อให้พิจารณาเอกสารที่ยื่นขอสินเชื่อว่ามีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือค้ำประกัน และหนังสือรับรองเงินเดือน
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพิจารณาว่าเครดิตผ่านแล้ว ทางสถาบันการเงินก็จะแจ้งผลอนุมัติต่อผู้ซื้อ จากนั้นผู้ซื้อจึงสามารถเช่าซื้อรถยนต์ได้ทันที ซึ่งในขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ มักใช้เวลาประมาณไม่เกิน 7 วัน แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกสารหรือนโยบายของบริษัทปล่อยสินเชื่อนั่นเอง
การรีไฟแนนซ์คืออะไร
การรีไฟแนนซ์ คือ การที่ผู้เช่าซื้อรถได้ทำการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อไปใช้คืนเงินกู้ก้อนเก่า โดยผู้เช่าซื้อรถอาจได้รับประโยชน์ที่ดีกว่าจากเงินกู้ก้อนใหม่ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง แต่การรีไฟแนนซ์ที่ดี ผู้เช่าซื้อรถจะต้องคำนึงด้วยว่า ส่วนต่างจากดอกเบี้ยที่ลดลง เช่น เมื่อนำค่างวดเก่ามาหักจากค่างวดใหม่ คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการรีไฟแนนซ์หรือไม่
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การขอสินเชื่อครั้งใหม่หรือการรีไฟแนนซ์ อาจทำให้ผู้เช่าซื้อรถพบปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขในการปิดบัญชีสินเชื่อรถยนต์ก่อนกำหนดที่ทำไว้กับสถาบันการเงินเดิม โดยมักระบุว่า ผู้เช่าซื้อรถยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมต่อแม้จะกู้สินเชื่อในสถาบันการเงินใหม่ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ผู้เช่าซื้อรถจะต้องจ่ายดอกเบี้ยซ้ำซ้อน ทั้งดอกเบี้ยที่เกิดจากสัญญากู้ใหม่และดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่กับสัญญากู้เดิมนั่นเอง
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์รถยนต์
ก่อนที่จะปิดบัญชีสินเชื่อเดิมเพื่อนำรถไปทำการขอสินเชื่อใหม่หรือรีไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อรถต้องคำนวณว่า ดอกเบี้ยคงเหลือตามสัญญากู้เดิม เมื่อนำมาหักส่วนต่างกับดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจากการกู้ใหม่ ถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้ บริษัทที่รับรีไฟแนนซ์บางแห่งยังหักเงินงวดแรก (เงินต้น+ดอกเบี้ย) ที่ลูกค้าต้องผ่อนชำระอีก 1 งวด ณ วันที่อนุมัติเงินกู้ ทำให้หลังรีไฟแนนซ์รถจะเหลือเงินสดรับจริง ๆ ในจำนวนไม่มากนัก แต่จะทำให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินยาวนานขึ้น ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อมีความพร้อมในการชำระหนี้ หรือมีความชำนาญในการบริหารเงิน ก็คงไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมากนัก
ซึ่งหลังจากที่ผู้เช่าซื้อมั่นใจแล้วว่า สามารถวางแผงในการผ่อนชำระค่างวดได้จนครบตามสัญญา ผู้เช่าซื้อสามารถติดต่อบริษัทรับจัดไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ด้วยวิธีเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้เช่าซื้อจะทำการรีไฟแนนซ์กับบริษัทเดิมที่เคยทำสัญญาสินเชื่อไว้ หรือจะเลือกสถาบันการเงินแห่งใหม่ ผู้เช่าซื้อก็สามารถเจรจาต่อรองเพื่อขออัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือเรียกร้องข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้ได้
จากข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อรถยนต์ที่กล่าวมาในข้างต้น สามารถสรุป ข้อดี ข้อเสีย ของการรีไฟแนนซ์ในภาพรวมได้ว่า...
ข้อดี ผู้กู้สินเชื่ออาจได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ได้ขยายเวลาในการผ่อนชำระเพิ่ม และอาจมีส่วนต่างของเงินที่จะนำไปหมุนเพื่อใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว
ข้อเสีย ผู้กู้สินเชื่ออาจต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม เช่น กรณีการเสียเบี้ยปรับในการปิดสินเชื่อเก่าเพื่อมาขอสินเชื่อใหม่ หรือการชำระดอกเบี้ยของสินเชื่อเก่า ที่ยังคงค้างอยู่หลังมีการกำหนดตายตัวไว้แล้ว
ส่วนใครที่ต้องการตัวช่วยในการผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ หลังจากศึกษาเรื่องสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว เราได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อใหม่ที่น่าสนใจ จากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ มาให้พิจารณากันแล้วค่ะ ในหัวข้อ รวมไฟแนนซ์รถยนต์ 2013 ส่วนข้อเสนอและเงื่อนไขเหล่านี้ จะโดนใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้ว รีบไปดูกันเลยจ้า!
ขอบคุณข้อมูลจาก กระปุก.คอม
ตัวนี้เอาอยู่! สำหรับคุณครูที่ทั้ง "ร้อง เล่น เต้น สอน เปิดเพลง" รุ่นนี้เอาอยู่ ลองดู Sherman TS-101 Trolley Speaker Amplifier ลำโพงบลูทูธล้อลาก ขนาด 6.5 นิ้ว กำลังขับ 60W
฿1,790https://s.shopee.co.th/3VUQ2Kf9NU?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 17,503 ครั้ง เปิดอ่าน 11,781 ครั้ง เปิดอ่าน 11,913 ครั้ง เปิดอ่าน 43,539 ครั้ง เปิดอ่าน 9,272 ครั้ง เปิดอ่าน 1,613 ครั้ง เปิดอ่าน 13,072 ครั้ง เปิดอ่าน 1,217 ครั้ง เปิดอ่าน 20,952 ครั้ง เปิดอ่าน 15,580 ครั้ง เปิดอ่าน 2,931 ครั้ง เปิดอ่าน 12,681 ครั้ง เปิดอ่าน 12,924 ครั้ง เปิดอ่าน 17,065 ครั้ง เปิดอ่าน 17,462 ครั้ง เปิดอ่าน 40,884 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 12,506 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 15,953 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 30,779 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,645 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,825 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 30,388 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 19,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 11,785 ครั้ง |
เปิดอ่าน 159,866 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,785 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,160 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,825 ครั้ง |
|
|