เมื่อสักครู่นี้ผมเพิ่งได้ดูวีซีดีหนังเรื่อง Seabiscuit เป็นครั้งแรก ไม่เคยดูเรื่องนี้มาก่อน ตอนแรกกะว่าพรุ่งนี้ จะโพสต์เกี่ยวกับข้อคิดที่ได้ จากหนังเรื่องนี้ไว้ในบล็อกพรุ่งนี้เช้า แต่กลัวว่าจะลืมบางสิ่งบางอย่างไป ก็เลยตัดสินใจเขียนซะคืนนี้เลย
ก่อนอื่นขอพูดเรื่องย่อของหนังเรื่องนี้ซะหน่อย
Seabiscuit เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของ ชาร์ล โฮเวิร์ด (นำแสดงโดย เจฟฟ์ บริดจ์) อดีตช่างซ่อมรถ ที่ผันตัวเองจนกลายเป็นคนร่ำรวย ด้วยการประกอบอาชีพเป็นเซลส์ขายรถยนต์ เขามีม้าตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งชื่อ Seabiscuit ต่อมา Howard ได้จับมือกับอดีตนักมวยที่ตาเสียคนหนึ่ง ชื่อ เรด พอลลาร์ด (โทบีย์ แมไกวร์) ให้เขามาเป็นจ็อกกี้ขี่เจ้า Seabiscuit โดยมี ทอม สมิธ (คริส คูเปอร์) อดีตผู้ฝึกม้ามือดี มาเป็นเทรนเนอร์ให้
เรื่องราวของ Seabiscuit กลายเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศอเมริกา เนื่องจากเจ้าม้าตัวเล็กนี้ ชนะรางวัลเกียรติยศในปี 1938 ที่สามารถเอาชนะม้าแข่งที่ไม่เคยแพ้ใครลงได้
ตอนที่ฮอลลีวูดนำมาสร้างเป็นหนังเมื่อปี 2003 เรื่องราวของ "Seabiscuit" ม้าแข่งชื่อดัง ขวัญใจคนอเมริกัน ก็เป็นอีกกระแสหนึ่งที่มาแรงในตลาดหนังสืออเมริกา ชนิดที่เรียกว่า แรงเป็นสองรองจาก แฮรี่ พอตเตอร์ เล็กน้อย เพราะ Seabiscuit นั้นเป็นม้าที่มีตัวตนจริง ๆ
สิ่งที่ทำให้มันมีชื่อเสียงก็คือ มันเป็นม้าที่มีขนาดเล็กกว่าม้าแข่งทั่วไป จึงเป็นม้านอกสายตา ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามันจะชนะม้าแข่งฝีเท้าดีตัวอื่นได้ แต่ในที่สุด Seabiscuit ก็ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่ามันทำได้ และทำได้ดีเยี่ยมเสียด้วย
ระหว่างที่ดูหนังเรื่องนี้ วิทยากรนักฝึกอบรมอย่างผมก็ได้แง่คิดสะกิดใจ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
1. การให้โอกาสให้คนได้แสดงศักยภาพ เป็นสิ่งที่เราควรทำโดยเฉพาะเมื่อคนที่เราทำงานด้วยทำอะไรผิดพลาดไปบ้างต้องให้โอกาส
ในหนังเรื่องนี้มีหลายฉากที่พูดถึงเรื่องการให้โอกาส เช่น ตอนที่สื่อมวลชนถามโฮเวิร์ด ซึ่งเป็นเจ้าของ Seabiscuit ว่าอะไรที่ทำให้ม้าตัวนี้ได้รับชัยชนะในการแข่งขัน
“ก็แค่ให้โอกาส” เขาตอบ
ดูแล้วนึกถึงพวกนักเรียนนักศึกษาช้างเผือกตามต่างจังหวัด พวกเขามีความสามารถ เพียงแต่ยังไม่ได้โอกาสแสดงฝีมือเหมือนเจ้า Seabiscuit ก็เท่านั้นเอง
หรือบางทีพนักงานบางคนอยู่ในบางองค์กร ไม่ได้รับโอกาสจากนาย จากหัวหน้างาน ให้แสดงฝีมือ ไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ
เหตุการณ์แบบนี้มักเกิดกับองค์กรที่มีคนเก่งเยอะ ๆ แต่โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งที่สูงขึ้นมีจำนวนจำกัด พวกคนเก่ง ๆ เหล่านี้จึงมักหาทางไปโตที่อื่น ไปหาโอกาสแสดงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้นายคนใหม่เห็น (แต่เจ้านายเก่าไม่ยักกะเห็นแฮะ มันแปลกดีนะ)
มีอีกฉากหนึ่งกลาง ๆ เรื่อง ตอนที่เทรนเนอร์เพิ่งรู้ความจริงว่า จ็อกกี้ที่ขี่ Seabiscuit ตาบอดข้างหนึ่ง ทำให้เขามองไม่เห็นม้าคู่แข่งที่กำลังแซงขึ้นมา จนทำให้ครั้งนั้น Seabiscuit แพ้ และทำให้เขาต้องสารภาพความจริงออกมา
พอรู้ความจริงเข้า เทรนเนอร์โกรธมาก ไปบอกกับเจ้าของ Seabiscuit ว่าคงจะให้เขาเป็นจ็อกกี้ขี่ Seabiscuit ต่อไม่ได้เพราะเขาเป็นคนโกหกหลอกลวง เจ้าของม้าก็เลยเอาคำพูดของเทรนเนอร์ ที่เคยบอกกับเขาถึงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไปซื้อม้าที่บาดเจ็บ หรือพิการมารักษา คำพูดนั้นคือ
“เราคงไม่ทิ้งมัน เพียงเพราะมันบาดเจ็บนิดหน่อยเท่านั้นหรอกนะ”
ฉากนี้ต้องให้พวกหัวหน้ามหาหิน และเจ้านายจอมโหดทั้งหลายที่ชอบโกรธจะเอาเป็นเอาตายเวลาลูกน้องทำผิดทำพลาดอะไรไปบ้าง ไม่เคยคิดจะให้อภัย หรือให้โอกาสกันบ้างเลยหรือไง
2. ใจสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด ในหนังเรื่องนี้ผมเห็นความไม่สมบูรณ์ทางด้านร่างกายของทั้งคนและม้า เริ่มตั้งแต่เทรนเนอร์ที่เป็นคนดูแล Seabiscuit และคอยสอนจ๊อกกี้ นั้นแก่มากพอสมควร
ตัว Seabiscuit เองก็เป็นม้าตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับม้าแข่งทุกตัว จ๊อกกี้ที่รู้ใจมันดีบอกว่า จุดเด่นของมันอยู่ที่ ใจ ไม่ใช่ฝีเท้า ก็เห็นจะจริง ม้าอะไรก็ไม่รู้ตัวก็เล็ก ๆ แต่เอาชนะม้าตัวใหย่ขายาวได้
ตอนท้ายเรื่องทั้งจ็อกกี้ และม้าก็บาดเจ็บ กระดูกแตกกระดูกร้าว ต้องเข้าเฝือกที่เท้าทั้งม้าทั้งคน
แต่ทั้งคู่ก็ใจสู้ อึดอดทน ฝึกฝนทั้ง ๆ ที่ยังบาดเจ็บอยู่จนได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ดูฉากนี้แล้วใครไม่ฮึกเหิม ไม่มีกำลังใจ ไม่ฮึดนี้ แสดงว่าฮอร์โมนสร้างกำลังใจในร่างกายบกพร่องแน่ ๆ
ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากอย่างทุกวันนี้ ผมแนะนำให้องค์กรต่าง ๆ ควรหาหนังเรื่องนี้ไปเปิดให้พนักงานดู เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ สร้างแรงและพลังในการทำงานให้ฮึกเหิมกว่าเดิม
3. การถ่ายทอดความรู้ที่มองไม่เห็น (Tacit Knowledge) จากคนสู่คนทำได้จริง ถ้าคนที่มี Tacit Knowledge นั้นเต็มใจและตั้งใจถ่ายทอดให้ ขณะเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเต็มใจและตั้งใจรับความรู้นั้นเช่นกัน
จากฉากที่จ็อกกี้ได้รับอุบัติเหตุที่ขา ทำให้ขี่ Seabiscuit ไม่ได้ ทางเจ้าของม้าจึงคิดจะถอนตัวจากการแข่งขันเพราะจ๊อกกี้บาดเจ็บต้องนอนพักอยู่ในโรงพยาบาล แต่จ็อกกี้ไม่ยอมให้ถอนตัวเพราะเขาเชื่อและมั่นใจมากว่า Seabiscuit ต้องชนะในการแข่งขัน
หลังจากนั้นก็ได้จ๊อกกี้คนใหม่มาขี่แทนชั่วคราว ผมชอบตอนจ๊อกกี้ที่กำลังบาดเจ็บอยู่ในโรงพยาบาล ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ ถ่ายทอดความรู้ทุกอย่าง รวมทั้ง เทคนิค แทคติกต่าง ๆ ในการขี่ และควบคุม Seabiscuit
เรียกว่าความรู้ทุกอย่างที่มีในสมอง เขาถ่ายทอด บอก แนะนำ ให้กับจ๊อกกี้คนใหม่อย่างหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว และผลการแข่งขันครั้งนั้นจ๊อกกี้ที่มาขี่แทนเขาก็สามารถนำเจ้า Seabiscuit เข้าเส้นชัยได้เป็นตัวแรก
นัก HRD เรียกว่า Knowledge Management หรือ KM การจัดการความรู้ ที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดความรู้ การแบ่งปัน การเข้าถึงข้อมูลความรู้ เพื่อช่วยในการพัฒนาคนพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น
แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ KM ไม่เวิร์คก็คือ คนที่จะถ่ายทอดหรือแชร์ความรู้นั้น ให้ไม่หมด ไม่เต็มใจให้ ไม่ตั้งใจให้ กลัวคนอื่นจะรู้มากกว่า
จึงให้เฉพาะที่ต้องการให้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นความรู้ที่เห็นจับต้องได้ (Explicit Knowledge) ส่วนความรู้ภายในลึก ๆ ที่มองไม่เห็น (Tacit Knowledge) นั้นต้องใช้เวลา ต้องอาศัยเทคนิคพอสมควร เพราะมันเป็นเคล็ดลับเฉพาะตัว หรือท่าไม้ตายนั่นเอง แต่ผมก็ได้เห็นตัวอย่างการถ่ายทอด Tacit Knowledge จากหนังเรื่องนี้
ผมว่าจริง ๆ ในหนังเรื่องนี้ยังมีง่มุมให้เรียนรู้อีกเยอะ ทั้งเรืองการดูแลบังคับบัยชาลูกน้อง จิตวิทยาการทำงานกับผู้อื่น การโค้ชและการให้ฟีดแบ็ก และ ...
อยากให้ไปหาหนังมาดูกัน ดูแล้วจะรู้ว่า ทำไม Seabiscuit ถึงชนะใจคนอเมริกัน
|