ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Bulka สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
พบหลุมยุบปริศนาขนาดยักษ์ที่ไซบีเรีย ขนาดปากหลุมกว้างกว่า 80 เมตร ยังไม่ทราบความลึก นักวิทยาศาสตร์เร่งหาคำตอบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่ข่าวออนไลน์บางกระแสชี้ อาจเป็นที่จอดยูเอฟโอ
ตามรายงานจากเว็บไซต์เดอะไซบีเรียนไทม์ส เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ระบุว่า พบหลุมยุบขนาดใหญ่ที่คาบสมุทรยามาล ทางตอนเหนือของคาบสมุทรไซบีเรีย พื้นที่ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "จุดสิ้นสุดของโลก" โดยอยู่ห่างจากแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติโบวาเคนโคโว (Bovanenkovo) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ออกไปราว 30 กิโลเมตร จากรูปในคลิปวิดีโอคะเนว่า ปากหลุมมีความกว้างราว 80 เมตร แต่ยังไม่ทราบความลึก ในตอนนี้ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจแล้ว คาดว่าจะเดินทางถึงบริเวณหลุมปริศนาภายในวันนี้ (16 ก.ค.)
สำหรับสาเหตุของการเกิดขึ้นของหลุมยักษ์ดังกล่าวยังคงเป็นปริศนา โดยมีการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่า อาจเกิดจากอุกกาบาตโหม่งโลก การถล่มของชั้นหินใต้เปลือกโลก ไปจนถึงสื่อออนไลน์สายหนึ่งชี้ว่าอาจเป็นที่จอดของยานอวกาศจากนอกโลกก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะสามารถอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดหลุมยุบได้ในไม่ช้าและคาดว่ามันอาจเป็นผลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
สื่อ Zvezda TV ของรัสเซียยังได้รายงานถึงหลุมดังกล่าวโดยให้ข้อสังเกตว่า สีเข้มจนเกือบดำบริเวณรอบปากหลุมด้านใน ชี้ให้เห็นว่าระหว่างกระบวนการเกิดหลุมนี้มีความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ แต่อย่างไรก็ดี ตัวแทนคณะรัฐมนตรีของยามาล ได้ตัดเรื่องอุกกาบาตพุ่งชนออกจากสาเหตุที่เป็นไปได้ แม้จะยอมรับว่ายังเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปถึงที่มาของมันก็ตาม โดยเผยว่าหลุมดังกล่าวน่าจะปรากฏขึ้นมาราว 2 ปีที่แล้ว ในตอนนี้กำลังที่จะทราบสาเหตุการเกิดขึ้นของมันจากผลการวิจัยตัวอย่างดิน น้ำ และอากาศ จากทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ทวีปอาร์กติกศึกษา สถาบันไครโอสเฟียร์จากสมาคมวิทยาศาสตร์รัสเซีย ที่ลงพื้นที่เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุพร้อมเจ้าหน้าที่ของเขตยามาลและกระทรวงสภาวการณ์ฉุกเฉินของรัสเซียแล้ว
ด้านนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยทวีปอาร์กติกย่อย สันนิษฐานถึงสาเหตุที่น่าจะใกล้เคียงความจริงมากที่สุดว่า น่าจะเกิดจากการระเบิดของการรวมตัวกันระหว่าง แก๊ส น้ำ และเกลือ เนื่องจากในอดีตคาบสมุทรยามาลเคยเป็นทะเล ก่อนที่จะหนาวเย็นกลายเป็นน้ำแข็ง และน้ำแข็งก็มาละลายเพราะภาวะโลกร้อน ซึ่งการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่นี้ทำให้เกิดแก๊สขึ้น เมื่อสะสมมากเข้าก็เกิดการระเบิดขึ้นมา