นักวิชาการเสนอคสช.ยุบสมศ.ชี้สร้างภาระ
กลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา ภาคประชาสังคม ธุรกิจเอกชน และ ศธ.รวมพลังคิดแนวทางปฏิบัติการศึกษา เสนอ คสช.ชี้ต้องปรับปรุงหรือยุบ สมศ.ย้ำตั้งสภาปฏิรูปการศึกษาให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมอย่างเต็มที่ ด้าน ศธ.นัดฟังเสียงทุกฝ่าย วันที่ 19 ก.ค.นี้
วันนี้ (9 ก.ค.) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ประสานมิตร กลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และภาคธุรกิจเอกชน จัดประชุมหารือแนวทางข้อเสนอปฏิบัติการศึกษา(ระยะสั้นและระยะยาว) เพื่อส่งมอบต่อหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ โดย ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมศว.กล่าวว่า ตนขอเสนอให้คสช.ทำเรื่องที่ทำได้ยากในภาวะปกติ คือ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ เพื่อวางระบบและโครงสร้าง ให้การดำเนินงานต่างๆเดินหน้าต่อไปได้หลังจากที่มีการเลือกตั้ง หรือ มีรัฐบาลชุดปกติแล้ว เช่น จัดตั้งสภาหรือคณะกรรมการปฎิรูปการศึกษา จัดตั้งหน่วยงานหรือสถาบันวิจัยระบบการศึกษาจัดตั้งกองทุนที่ออกพันธบัตรเพื่อสังคมหรือการศึกษา ปรับปรุงระเบียบให้มีการทำงานรับใช้สังคมในชนบท ผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่จะออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และที่สำคัญควรพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา(สมศ.)เพราะจากการหารือในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ต่างเห็นตรงกันว่าการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. เป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่สถาบันการศึกษาเป็นอุปสรรค และภาระในการจัดการศึกษาอย่างมาก
ศ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทยสนใจแต่เรื่องวุฒิการศึกษาไม่ได้ดูว่าจะเอาความรู้อะไรไปทำงาน ใช้เวลายาวนานในระบบการศึกษาถึง16 ปี ก็ยังได้คนไม่มีคุณภาพ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้ คือ จะทำอย่างไรให้คน เก่ง มีคุณภาพ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรเพื่อเตรียมคนออกไปสู่ตลาดแรงงานและยกระดับคนในวัยทำงานให้มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึงควรจะมีการพัฒนากลุ่มคนผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ฝึกอาชีพและทำงานได้
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.จะรวบรวมข้อเสนอที่ได้จากการประชุมสรุปรวมกับแผนโรดแม็พของ ศธ. ก่อนนำเสนอ คสช.ทั้งนี้ ศธ.อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา จึงจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่19 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมในการดำเนินการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษาต่อไป
ด้าน รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า แนวทางในการปฎิรูปการศึกษานั้น ศธ. และกลุ่มต่างๆ ควรนำเสนอการปฏิรูปไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเท่าที่รวบรวมทิศทางหลักๆของการปฏิรูปการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเรื่องเร่งด่วน คือ การตั้งสภาปฎิรูปการศึกษา เพื่อให้การดำเนินการปฎิรูปการศึกษาในระยะยาวเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้การปฏิรูปการศึกษาต้องให้โรงเรียน ผู้บริหาร ครูเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นต่อให้มีแผนมากมาย แต่ครู ผู้บริหาร ยังดูไม่ออกว่าจะปฏิรูปอย่างไร การปฎิรูปการศึกษาก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 9 กรกฎาคม 2557