ผลประชุมกับฝ่ายสังคมจิตวิทยา ประเด็นร่าง Roadmap ปฏิรูปการศึกษา
ศึกษาธิการ - เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการประชุมกับคณะทำงานฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในประเด็นร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา
● ร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ปี 2558-2564 โดยเน้น 6 ประเด็นหลัก
ปลัด ศธ.กล่าวว่า ศธ.ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแนวทางของหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะการจัดทำร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องเชื่อมโยงและส่งข้อเสนอให้สภาปฏิรูปประเทศไทยต่อไป โดยมีกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษา ใน 6 ประเด็น ได้แก่
1) ปฏิรูปครู อาทิ รื้อระบบบริหารบุคคล เพื่อให้ได้คนเก่งคนดีมาเป็นครู ทบทวนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำหนดมาตรการให้ครูอยู่ประจำห้องเรียนและผู้บริหารอยู่ประจำโรงเรียน พัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการกระจายครูที่เหมาะสม เป็นต้น
2) เพิ่ม-กระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม อาทิ พัฒนาระบบการศึกษาทางไกล พัฒนาเครือข่ายโรงเรียนให้เข้มแข็ง ปรับเงินอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภทให้เป็นธรรม ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดช่วงเวลาให้ทุกสื่อจัดรายการเพื่อการศึกษาในช่วงที่เหมาะสม ควบคุมร้านเกมทั้งเวลาเปิดปิดและเนื้อหาสาระ การพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งรัดพระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชน เป็นต้น
3) ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ อาทิ ทบทวนโครงสร้างและบทบาท ศธ. และการบริหารในพื้นที่ กระจายอำนาจการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนหรือพื้นที่เป็นฐาน การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มอิสระในการบริหารและสามารถตรวจสอบได้แก่โรงเรียนและสถานศึกษา ทบทวนเรื่องต่างๆ ทั้งวิธีการประเมินของหน่วยงานประเมินต่างๆ วิธีการได้มาของตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในคณะกรรมการ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนและภาคประชาสังคม และรื้อระบบจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา ระบบเงินอุดหนุนรายหัว เป็นต้น
4) การผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อาทิ ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ จัดทวิภาคี สหกิจศึกษาเข้มข้น ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ เร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ผลิตและพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีแก่ประเทศ เป็นต้น
5) ปฏิรูปการเรียนรู้ อาทิ เร่งแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้ซ้ำได้ ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นความเป็นพลเมือง ประวัติศาสตร์ ระเบียบ วินัย ศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรม ทักษะในศตวรรษที่ 21 อาชีพ และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่ห้องเรียน ส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ขยายผลต้นแบบ/การนำร่องรูปแบบที่ดี เช่น โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปแบบ Bottom Up
6) ปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษา อาทิ จัดทำแผนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยพัฒนาเนื้อหาสาระ สื่อต่างๆ มีระบบรับรองและควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเนื้อหา เตรียมความพร้อมของครู โครงสร้างพื้นฐาน และระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ยกเว้นภาษีอากรการนำเข้าอุปกรณ์ สื่อเพื่อการศึกษา : BOI การศึกษา เป็นต้น
● มอบหน่วยงานต่างๆ ระดมความคิดเห็น เพื่อทบทวนโครงสร้างของ ศธ.
ในส่วนของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาตินั้น จะต้องมีการทบทวนว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่อย่างไร ส่วนการทบทวนโครงสร้างของ ศธ.จะต้องมองเชิงเป้าหมายเป็นหลัก ซึ่งได้มอบให้สำนักงานศึกษาธิการภาค ไประดมความคิดเห็นและเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ กลับมา และมอบสำนักงาน ก.ค.ศ. ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างของทั้งกระทรวงด้วย นอกจากนี้ อาจจะใช้การวิจัยจากภายนอกเข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในภาพรวมของ ศธ. ทั้งจากการวิเคราะห์ตัวเองและมุมมองจากคนภายนอก
● คาดว่า Roadmap การปฏิรูปการศึกษา จะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายน 2557
ทั้งนี้ ในการจัดทำร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ศธ.ได้ศึกษาและวิเคราะห์ทั้งจากเจตนารมณ์ Roadmap ของ คสช. สถานการณ์การศึกษาไทย ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนถึงศักยภาพการศึกษาไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนด้วยแล้ว
ต่อจากนี้ก็จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เปิดเวทีสาธารณะ ควบคู่ไปกับการหารือและขอความเห็นจากกลุ่มย่อยจากองคมนตรีและผู้ทรงวุฒิต่างๆ ตลอดเดือนกรกฎาคม จากนั้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะนำร่าง Roadmap ที่ปรับปรุงแล้ว เสนอต่อหัวหน้าคณะฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งคาดว่า Roadmap การปฏิรูปการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนนี้
● ฝ่ายสังคมจิตวิทยาเน้นให้นำไปสู่การปฏิบัติ แยกประเด็น และมอบผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน
ในการนี้ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ดังนี้
◦ การนำไปสู่การปฏิบัติ ขณะนี้ร่าง Roadmap มีความชัดเจนและครอบคลุมแล้ว แต่ขอให้เน้นถึงการนำ Roadmap ไปสู่การปฏิบัติ เช่น ประเด็นครู ที่จะต้องแก้ไขปัญหาให้ครูดี ครูเก่งมาเป็นครู จะทำได้อย่างไร
◦ การแยกแยะประเด็น ขอให้ ศธ.แยกแยะประเด็นปัญหาและอุปสรรคออกมาให้ชัดเจน เช่น อยากได้ครูเก่ง ครูดี จะปรับหลักสูตรและระบบใบประกอบวิชาชีพครูอย่างไร ส่วนการปฏิรูปเริ่มที่ห้องเรียน ควรคำนึงถึงกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด
◦ แนวทางการดำเนินงาน ขอให้จัดทำแนวทางการดำเนินงานพร้อมมอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละงาน
หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้กล่าวถึงครูด้วยว่า ครูถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในระบบการศึกษา ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ครูมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู และครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก ที่จะต้องมีความเข้าใจเด็ก เช่น เด็กอนุบาลยังต้องการพ่อแม่ ครูต้องทำตัวเหมือนพ่อแม่ เมื่อขึ้นชั้นประถม เด็กต้องการเพื่อน ครูก็ต้องปรับตัวให้เป็นเพื่อน ส่วนในชั้นมัธยม ครูก็ต้องเป็นผู้นำ-ผู้ชี้แนะให้นักเรียนได้เช่นกัน เมื่อครูเข้าใจเด็ก ก็จะทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน เพราะเชื่อว่าการได้เรียนกับครูที่ดี จะสามารถจูงใจให้เด็กอยากมาเรียนและรักการเรียนด้วย ส่วนคำที่กล่าวไว้ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” อาจจะช้าไปด้วยซ้ำ เพราะการพัฒนาคนจะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพื่อให้การศึกษาก่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
● ศธ.เตรียม 3 ช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นปฏิรูปการศึกษา
ศธ.ได้เตรียมช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจ จำนวน 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ปฏิรูปการศึกษา : www.edreform.moe.go.th เฟซบุ๊ก : ThailandEdReform และอีเมล : edreform@moe.go.th โดยคาดว่าจะเปิดตัวเว็บไซต์ภายในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ซึ่งภายในเว็บไซต์ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของ คสช. ร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา เว็บบอร์ดแสดงความคิดเห็น กิจกรรมการดำเนินงานของ ศธ. เวทีสาธารณะ การสำรวจความคิดเห็น เช่น ครูดีในดวงใจเป็นอย่างไร อยากให้ห้องเรียนเป็นอย่างไร โรงเรียนควรเป็นอย่างไร และความก้าวหน้า/แหล่งข้อมูล
ในส่วนของการสำรวจความคิดเห็นทางเว็บไซต์ปฏิรูปการศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ดำเนินการ และได้รายงานต่อที่ประชุมฝ่ายสังคมจิตวิทยาแล้ว ซึ่งมีผลการสำรวจการพัฒนาการศึกษาไทยของเยาวชนไทยอายุ 14-18 ปี เมื่อเดือนเมษายน 2557 รวม 7 อันดับ ดังนี้
- อันดับ 1 ร้อยละ 69.4 อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน เน้นนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าการเรียนทฤษฎี
- อันดับ 2 ร้อยละ 65.1 เห็นว่าการเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็น
- อันดับ 3 ร้อยละ 58.9 เห็นว่าโอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาของไทยไม่เท่าเทียม
- อันดับ 4 ร้อยละ 58.7 เห็นว่าเด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถนำความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
- อันดับ 5 ร้อยละ 57.8 ระบุเด็กไทยไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน
- อันดับ 6 ร้อยละ 53.1 เห็นว่าการเรียนการสอนเริ่มต้นจากความรู้ในหนังสือและจบลงที่ข้อสอบ
- อันดับ 7 ร้อยละ 25 อยากถามครูเกี่ยวกับวิธีการสอนของครู (ทำไมต้องอ่านตามหนังสือ ทำไมครูไม่หาวิธีสอนที่สนุก ไม่น่าเบื่อ)
ส่วนผลการวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ “English Proficiency Index Scores for 2013” พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 มีคะแนน 44.44
ปลัด ศธ.กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการและคณะทำงานที่ตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะอำนวยการการปฏิรูปการศึกษา คณะทำงานฝ่ายเลขานุการการปฏิรูปการศึกษา จะรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อีเมล เวทีสาธารณะ ข้อหารือต่างๆ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติ เพื่อจัดทำเป็นแผนการดำเนินงานของ ศธ. ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอเสนอต่อสภาปฏิรูปต่อไป
● ข้อเสนอเพิ่มเติมจากผู้ทรงคุณวุฒิในการปฏิรูปการศึกษา
◦ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้แนวทางการปฏิรูปการศึกษา โดยยึดเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ระบุไว้ว่า การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาคนให้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งในหมวด 4 ได้ระบุวิธีการเรียนการสอนไว้อย่างครบถ้วน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้ กล่าวคือ การมองว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ และเด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งการจัดการศึกษาต้องมุ่งพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพและพัฒนาตามความต้องการของแต่ละคน ทำให้การพัฒนามีความแตกต่างกัน หากจะพัฒนาในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ก็อาจจะยังไม่ตอบสนองในประเด็นนี้
◦ นายประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาใน 3 ประเด็น ได้แก่ การศึกษาทางเลือก การขยายผลนำร่องต้นแบบที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนวิถีพุทธต่างๆ หากมีการถอดบทเรียนออกมา ก็จะสามารถขยายผลได้เลย และการปฏิรูปที่ทำได้ทันทีโดยประชาชน คือ สภาการปฏิรูปในระดับจังหวัดหรือภาคประชาชน เพราะแต่ละจังหวัดมีรูปแบบและ Model ต่างกัน เช่น ภาคอีสเทิร์นซีบอร์ด เน้นการศึกษากับการมีงานทำ โดยร่วมมือกับสถานประกอบการ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีจุดเด่นต่างๆ กัน หากนำจุดเด่นมาใช้กับการศึกษา ก็จะทำให้การศึกษาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
ปลัด ศธ.ย้ำว่า การจัดทำร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับ Roadmap และเจตนารมณ์ของ คสช. ตลอดจนทิศทางการพัฒนาประเทศที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญและคาดหวังกับการศึกษา ซึ่งการศึกษาก็คือการพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นปฏิรูปคนไทย ให้เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบ วินัย มีความภูมิใจในความเป็นไทย แข่งขันได้ในประชาคมโลก ซึ่งจะตอบโจทย์คุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ