ศธ. เร่งเครื่องจัดทำโรดแมปปฏิรูปการศึกษา เบื้องต้นวางกรอบปฏิรูปไว้ 6 ด้าน ชูปฏิรูปครูเป็นประเด็นแรก ปลัด ศธ. เผยเล็งโละระบบบรรจุ - แต่งตั้งครู รวมทั้งทบทวนระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มครูในบางกลุ่ม รวมทั้งจะทบทวนโครงสร้าง ศธ. สั่งทำวิจัยทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอก คาดใช้เวลา 3 เดือน นำผลมาสรุปหาวิธีการปรับโฉมหน้าใหม่ ศธ.
วันนี้ (2 ก.ค.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ศธ. ได้เสนอร่างแผนปฏิบัติการ หรือโรดแมปการปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ปี 2558 - 2564 โดยมีกรอบการปฏิรูป 6 ด้าน
1. การปฏิรูปครู
2. การกระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม
3. ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ
4. ปรับระบบการผลิตและพัฒนากำลังคน
5. ปฏิรูปการเรียนรู้ และ
6. การปรับระบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ทั้งนี้ รายละเอียดร่าง แผนการปฏิรูปการศึกษา ที่สำคัญหลักๆ ที่ ศธ. ได้นำเสนอในครั้งนี้ คือ การปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลของ ศธ. ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการรื้อระบบบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายครูเพื่อให้ได้คนดี คนเก่ง มีจรรยาบรรณมาเป็นครู
นางสุทธศรี กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น จะให้มีการปรับรื้อและทบทวนระบบการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย เพราะระบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มจำนวนครูในบางกลุ่ม อาทิ ครูในระดับการศึกษาขั้นสูง หรือครูช่างของอาชีวศึกษา ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะมีการวางระบบพัฒนาครู โดยอาจจะมีการศึกษาระบบคูปองอบรมพัฒนาครู รวมถึงจะกำหนดมาตรการให้ครูอยู่ประจำห้องเรียนและให้ผู้บริหารอยู่ประจำโรงเรียนให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงอาจจะมีการทบทวนระบบบริหารจัดการงบประมาณเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะระบบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายราย
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญ คือ การทบทวนโครงสร้างศธ. ทั้งโครงสร้างส่วนกลางรวมไปถึงโครงสร้างการบริหารจัดการระหว่างส่วนกลางและภูมิภาคด้วย เพื่อให้การทำงานของ ศธ. เป็นไปตามเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งจะมอบให้สำนักงานศึกษาธิการภาคไปจัดระดมความเห็นจากในพื้นที่ รวมถึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดระดมความเห็นในภาพรวม และจะมีการจัดทำวิจัยทั้งจากหน่วยงานของ ศธ. และจากหน่วยงานภายนอกมาร่วม เบื้องต้นจะให้เป็นการวิจัยระยะสั้น ไม่เกิน 3 เดือนเพื่อหาข้อสรุปถึงจุดอ่อน จุดแข็งของโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและมาพิจารณาว่าจะต้องปรับปรุงตรงส่วนไหนอย่างไร
“จากการนำเสนอร่าง แผนการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวทางหัวหน้าฝ่ายสังคมฯได้ขอให้ ศธ. ไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำโรดแมปดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยระหว่างนี้ ศธ. จะดำเนินการขอความเห็นจากองคมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ก่อนที่จะเปิดเวทีใหญ่เพื่อรับฟังแนวทางการปฏิรูปจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 19 กรกฎาคม จากนั้นจากสรุปร่างโรดแมปปฏิรูปการศึกษาภายในเดือนกรกฎาคม และนำเสนอหัวหน้าฝ่ายสังคมฯพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม ก่อนจะสรุปเพื่อทำแผนปฏิรูปการศึกษาเสนอต่อสภาปฏิรูปประเทศในกันยายนต่อไป” นางสุทธศรี กล่าว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2557