.....ช่วงสงกรานต์นี้คุณครูหลายท่านคงได้มีโอกาสไปพักผ่อน..คลายร้อนหรือถีอโอกาสเยี่ยมญาติไปด้วยก็คงมีนะคะหลายภาคหลายสถานที่ท่องเที่ยวในไทยล้วนน่าเที่ยวทั้งนั้น...วันนี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับสงกรานต์ของทางบ้านเรา
ภาคเหนือ...มาเล่าสู่กันฟังนะคะ...ทางเหนือจะถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันปี๋ใหม่เมือง...อย่างไร...ลองอ่านเกันดูนะคะ
วันสงกรานต์ของคนเมือง (เหนือ) |
ชาวเมืองเหนือเรียกวันตรุษสงกรานต์ว่า “วันปี๋ใหม่” นับเริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มเข้าสู่ราศีเมษ ในเดือนเมษายน ชาวเหนือเรียกว่า “วันสังขารล่อง” คือวันสิ้นสุดศักราชเก่า คำว่าสังขารล่อง หมายถึง อายุสังขารของเราได้ล่วงเลยไปอีกปีหนึ่ง ปี๋ใหม่เมืองของเชียงใหม่ มีวันสำคัญ 3 วัน ตรงกับวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายนของทุกปี
1. วันสังขารล่อง ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ตอนเช้าตรู่ชาวบ้านจะจุดประทัด ยิงปืนเพื่อไล่สิ่งชั่วร้าย ให้ล่องไปกับสังขาร หลังจากนั้นจะทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านเรือน ลานบ้าน ถนนในหมู่บ้าน วัด มีการชำระล้างร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ วันนี้มีการเยี่ยมเยือนกัน เรียกว่า “แอ่วปี๋ใหม่” มีการเล่นรดน้ำกันตามหมู่บ้านหรือตามถนนที่มีผู้คนผ่านไปมา
ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีการแห่พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปสำคัญของเมืองไปตามถนนต่างๆ
เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระ
2. วันเนา ทางเหนือเรียกว่า วันเน่า ตรงกับวันที่ 14 เมษายน ซึ่งถือว่าเป็นวันไม่ดี จะไม่ทำการมงคลใดๆ ไม่ด่าทอ หรือทะเลาะวิวาทกัน เป็นวันแต่งดาเครื่องไทยทานที่จะนำไปถวายพระในวันรุ่งขึ้น แต่ละบ้านมีการทำอาหารคาว หวาน ขนมต่างๆ เช่น ขนมปาด ขนมจอก ข้าวต้มมัด ในตอนบ่าย มีการขนทรายเข้าวัด หนุ่มสาวหรือผู้มีกำลังจะพากันขนทรายเข้าวัด นำมาก่อเป็นเจดีย์ทราย ขณะเดียวกันแต่ละบ้านเตรียมตุงทำด้วยกระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นรูปเหลี่ยมผูกกับกิ่งไม้ เพื่อประดับเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น การขนทรายเข้าวัด คนโบราณกล่าวว่า “เราเดินเข้าไปในวัดเม็ดทรายจะติดเท้าออกมาโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่ขนทรายเข้าไปแทนตายไปจะเกิดเป็นเปรต” การขนทรายจึงมีจุดมุ่งหมายแอบแฝง ได้แก่ การทำให้บริเวณวัดสวยงาม ช่วยกำจัดหญ้า วัดมีความสะอาด ทรายเป็นวัตถุดิบในการก่อสร้างวัด ขณะที่ขนทรายเกิดความสนุกสนานและสามัคคีกัน
3. วันพญาวัน ตรงกับวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก ชาวเหนือถือเป็นวันสำคัญยิ่งกว่าวันอื่นๆ จึงให้ชื่อว่า วันพญาวัน วันพระยาของวัน เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ตอนเช้าชาวบ้านจะจัดอาหาร ขนมสำหรับไปถวายที่วัด มีการตาน(ทาน)ขันข้าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว
มีการนำช่อตุงปักเจดีย์ทราย และไม้ค้ำต้นโพธิ์ ดอกไม้ธูปเทียนไว้ที่ต้นโพธิ์ ถือตามคตินิยมว่า “ เป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้อยู่นานตลอดไป” หลังจากนั้นเป็นการสรงน้ำพระพุทธรูปประธานด้วย
เสร็จจากพิธีกรรมที่วัด ชาวบ้านจะนำสำรับอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ น้ำส้มป่อย ฯลฯ ไปดำหัวญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ รับพรปีใหม่
นอกจากนี้ยังถือวันที่ 16 เมษายนเป็น “วันปากปี๋” เริ่มต้นปี๋ใหม่ มีกิจกรรมต่างๆ เช่นการดำหัวผู้ใหญ่ ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ มีการทำอาหารเช่นแกงขนุน เชื่อถือกันว่า จะช่วยหนุนหรือค้ำจุนให้อยู่อย่างมีความสุขตลอดปีใหม่ |
ขอบคุณที่มาข้อมูลwww.pantown.com