เป็นโรคอะไรไม่ควรขับรถ มีอาการแบบไหนเสี่ยงอันตรายต่อการขับรถ กรมควบคุมโรค แจกแจงให้ฟังแล้ว
แม้ว่าโรคและปัญหาสุขภาพบางประการไม่ได้เป็นข้อห้ามของการทำใบขับขี่ แต่ต้องยอมรับว่า บางโรคหากเกิดอาการกำเริบขึ้น ก็มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้เผยข้อมูลให้ทราบกันว่า 9 โรคและปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่ได้ นั่นคือ
1. โรคที่เกี่ยวกับสายตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม คนที่มีปัญหาสายตาจะทำให้มองทัศนวิสัยไม่ชัด โดยเฉพาะในตอนกลางคืนซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
2. โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มาก แต่ก็ทำให้มีอาการหลงลืม ทำให้ตัดสินใจช้า สมาธิไม่ดีนัก และอาจเกิดปัญหาขับรถหลงทางในบางครั้ง
3. โรคหลอดเลือดสมอง แขนขาไม่มีแรง อาจเกิดปัญหาขากระตุก ไม่มีแรงขณะเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก หรือเปลี่ยนเกียร์ ส่งผลต่อการขับขี่ และทหใความไวต่อการตอบสนองเหตุการณ์ต่าง ๆ ลดลง
4. โรคพาร์กินสัน จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมือสั่น เกร็ง ทำอะไรได้ช้า ขับรถได้ไม่ดี
5. โรคลมชัก หากอาการกำเริบขึ้นจะมีอาการเกร็งกระตุก ไม่รู้สึกตัว อันตรายต่อผู้ใช้ทางรอบข้าง
6. โรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ หากมีอาการปวดบริเวณต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ก็ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ หรือถ้ากระดูกคอเสื่อม ก็ทำให้หันคอ หันหน้าดูการจราจรได้ลำบาก
7. โรคหัวใจ หากมีอาการเครียดมาก ๆ เกิดขึ้นจากสภาพการจราจรที่ติดขัด อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้
8. โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีอาการหน้ามืด ตาพร่า ใจสั่น เป็นคนอีกกลุ่มที่ต้องระวัง
9. การกินยาหลายชนิด ยาบางชนิดมีฤทธิ์ง่วงซึม เมื่อไปขับรถจะเกิดอาการมึนงง หลับใน ตัดสินใจช้า ตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ช้า ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้นอนพักผ่อนหลังทานยาประเภทนี้
โรคอะไรไม่ควรขับรถ
แล้วรู้ไหมว่าปัจจุบันนี้ กฎหมายกำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่รถยนต์เพียงแค่ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต และไม่ติดสุรา ยาเสพติด ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ ทางกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภา จึงกำลังพิจารณาเสนอโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถโดยตรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน คือ
1. โรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า ความพิการ
2. โรคระบบการมองเห็น เช่น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว
3. โรคระบบการได้ยิน
4. โรคหัวใจและโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ประวัติการผ่าตัด เป็นต้น
ใครที่รู้ตัวว่าตัวเอง หรือคนรอบข้างมีลักษณะอาการหรือโรคต่อไปนี้อยู่ ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการขับรถ โดยเลือกใช้รถโดยสารสาธารณะ หรือไหว้วานให้คนอื่นขับรถให้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากปกป้องชีวิตตัวเองแล้ว ยังป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นกับบุคคลอื่นที่ใช้ถนนร่วมกันด้วย
ขอบคุณที่มาจาก กรมควบคุมโรค , กระปุก.คอม