ศึกษาธิการ - ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 19/2557 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557
• มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ใน 5 ข้อ คือ
1. ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้
2. ในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือพบเหตุอันควรสงสัยว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในฐานะตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ประกอบกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล โดยให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
3. ในกรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด
4. กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามข้อ 2 และข้อ 3 ให้ถือเป็นความผิดทางวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี
5. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการแสวงหา รวบรวม และดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการที่จะทราบรายละเอียด และพิสูจน์เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งติดตาม เร่งรัดผลการดำเนินงานตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 และรายงานผลการปฏิบัติพร้อมทั้งเสนอความเห็นให้ คสช.ทราบและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง นั้น
จึงขอให้ศูนย์ประสานงานร่วม คสช. กระทรวงศึกษาธิการ ออกมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้การบริหารราชการของ ศธ.เป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยให้ถือเรื่องนี้เป็นภารกิจหลักของ ศธ.ในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ขอให้สำนักงานรัฐมนตรี รวบรวมประกาศ/คำสั่งของ คสช. ในรอบสัปดาห์ เพื่อรายงานให้ที่ประชุมองค์กรหลักรับทราบ เพื่อติดตามและดำเนินการตามประกาศ/คำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
ภายหลังการประชุม นางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการประชุมในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2558 ของ ศธ. ซึ่งได้จัดทำคำขอไว้จำนวน 619,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่ง ศธ.ได้รับจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 482,788 ล้านบาท หรือเท่ากับเสนอขอเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.27 โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนของมหาวิทยาลัย ทำให้เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมากว่าร้อยละ 95 ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะได้รับจัดสรรทั้งหมด อย่างไรก็ตามงบประมาณ ศธ.ที่เสนอขอทั้งหมดนี้ จะนำไปประชุมหารือกับ คสช. ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาปรับลดวงเงินต่อไป
ศธ.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายเลขานุการการจัดทำ Roadmap ปฏิรูปการศึกษา จำนวน 16 คน โดยมี ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการการจัดทำ Roadmap ปฏิรูปการศึกษาใน 6 ประเด็น ได้แก่ ปฏิรูปครู เพิ่มและกระจายโอกาสอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ปฏิรูปการเรียนรู้ และวางระบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ว่า ควรจะต้องเพิ่มเติมในประเด็นใดอีกบ้าง ทั้งนี้ ปลัด ศธ.ได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักพิจารณาประเด็นที่ต้องการจะปฏิรูปหรือแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม และให้นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไปด้วย
ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมจัดกิจกรรม/โครงการตามแนวทางเสริมสร้างการปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปในส่วนของ ศธ.ว่า ขณะนี้ ศธ. ได้ดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ โดยได้แจกบทเพลงปลุกใจเพื่อชาติศาสน์กษัตริย์ไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมรำลึกวีรชนและการฟื้นฟูดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังแยกวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองออกมาเป็นวิชาเฉพาะ โดยเรียนวิชาละ 1 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี โดยในวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ สพฐ.จะเชิญนักวิชาการมาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแยกวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง พร้อมทั้งมีแผนที่จะอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย
สำหรับแนวทางการจัดกิจกรรมของ ศธ.ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2557 ศธ.ได้เตรียมจัดกิจกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มผู้บริหาร ครู และบุคลากร และกลุ่มผู้ปกครอง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม การให้บริการแก่ประชาชน เวทีการแสดงให้ข้อมูลและบันเทิง เช่น การแสดงของวงดนตรีจากโรงเรียนต่างๆ การออกร้านจำหน่ายสินค้า และกิจกรรมสร้างความปรองดอง เช่น การแข่งขันกีฬา เป็นต้น
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ