วันที่ 16 มิถุนายน 2557 ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.พิชญ์ ศุภผล อาจารย์วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว เรื่อง ผลิตภัณฑ์รักษาแผล ป้องกันเชื้อโรค ด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุด นวัตกรรมจากนักวิจัยจุฬาฯ ว่า จากการวิจัยพบว่าเปลือกด้านในของมังคุดเมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีพิเศษทางเคมีจะสามารถสกัดได้สารแซนโทนในปริมาณสูงโดยจะอยู่ในรูปแบบผงและผงของสารแซนโทน (Xanthones ) จะสามารถเก็บได้นานประมาณ 2-3 ปี
สำหรับสารแซนโทนนั้นมีสรรพคุณทางการแพทย์คือมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบ และสามารถสมานแผลรักษาเซลล์มะเร็งและฆ่าเชื้อก่อโรคทางเดินระบบหายใจร้ายแรงได้ เช่น เชื้อวัณโรคชนิดดื้อยา เชื้อก่อโรคผิวหนังอักเสบและสิว และมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อไวรัส เช่น เอชไอวี เป็นต้น
ศ.พิชญ์ กล่าวอีกว่า หลังจากได้สารสกัดจากเปลือกมังคุดก็จะนำสารดังกล่าวมาปรับปรุงด้วยกระบวนการทางเคมี เพื่อให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคร้ายแรงที่เพิ่มขึ้น และทำการตรึงโมเลกุลของสารแซนโทนให้ติดบนผิววัสดุการแพทย์หลายชนิด เช่น หน้ากากอนามัย พลาสเตอร์ยา น้ำยาทาแผล และแผ่นปิดสิว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจุดเด่นของผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดนั้นคือจะมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพในการป้องกันและฆ่าเชื้อไวรัสรวมถึงยับยั้งการติดเชื้อต่างๆได้นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ทุกกระบวนการทั้งการวิจัย ผลิต และพัฒนา เป็นฝีมือของคนในประเทศไทย
“ปัจจุบันทางจุฬาฯได้มีการทำผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ว่าสามารถใช้ได้จริงและมีวางจำหน่ายแล้วประมาณ6-7 กลุ่ม นอกจากนี้ผลงานการวิจัยดังกล่าวยังมีการพัฒนาไปทำเป็นแผ่นก็อซปิดแผลซึ่งเป็นแผ่นก็อซที่ปิดแผลสำหรับแผลที่มีขนาดค่อนข้างกว้างและใหญ่ซึ่งนำไปใช้เป็นเคสแรกแล้วที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยผู้ป่วยมีแผลไฟไหม้ และภาวะติดเชื้อดื้อยา ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 3 เดือนไม่สามารถกลับบ้านได้ แต่ภายหลังใช้แผ่นก็อซที่สกัดจากเปลือกมังคุด 12 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ จึงเป็นอีกทางเลือกในทางการแพทย์”
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557