ซีเกทร่วมมือกับสวทช. และกลุ่มคิวบิก ครีเอทีฟ เปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส
สัมผัสความท้าทายของวิทยาศาสตร์ในค่ายคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์รุ่นที่ 10
เยาวชนและน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสจำนวน 120 คนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อจุดประกายนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย – 9 มิถุนายน 2557 – บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มคิวบิก ครีเอทีฟ จัดกิจกรรม “ค่ายเยาวชนคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์ รุ่นที่ 10 (Cubic Creative Camp 10: CCC 10)” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสได้สัมผัสความท้าทายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์และกิจกรรมการทดลองต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความสนใจของเยาวชน พร้อมทั้งเสริมสร้างแนวทางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 (ระดับ Junior ) และมัธยมศึกษาปีที่1-6 (ระดับ Master) รวมทั้งสิ้น 120 คน ซึ่งในปี 2557 นี้เป็นปีแรกที่ทางซีเกทได้เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้พิการทางร่างกายจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเยาวชนด้อยโอกาสจากโรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขตและโรงเรียนบ้านนา "นายกพิทยากร" เข้าร่วมกิจกรรม
สีสันในค่ายเยาวชนคิวบิกครีเอทีฟ แคมป์ รุ่นที่ 10 ซึ่งจัดขึ้น ณ บ้านวิทยาศาสตร์ สิรินธร สวทช. ประกอบด้วย กิจกรรมคบเด็กสร้างบ้าน ที่น้องๆ จะได้สนุกกับการสร้างและตกแต่งบ้านในฝัน กิจกรรม The Minesweeper ประชันไหวพริบในเกมอินเตอร์แอคทีฟสุดไฮเทค กิจกรรม Cubic Battlefield 5 เป็นกิจกรรมจำลองการต่อสู้ในสมรภูมิสุดระทึกที่น้อง ๆ ได้ฝึกฝนการวางแผนกลยุทธ์ การประสานกันในทีม การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี และการคิดตัดสินใจอย่างรวดเร็ว กิจกรรม Cubic Deal Master 3 เกมการ์ดที่ใช้การเจรจา ไหวพริบ แฝงการเรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน คุณธรรม จริยธรรม เพื่อความสุขและประโยชน์ร่วมกัน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
น้องณัฐกาญจน์ วงศ์กาฬสินธุ์ หรือน้อง “อัน อัน” นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญา ราชวิทยาลัย นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า “รู้สึกประทับใจกิจกรรมต่าง ๆ ในค่ายนี้มากเพราะเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ปฏิบัติจริง ที่ชอบเป็นพิเศษคือกิจกรรม Drift Ship Shoot ที่หนูกับเพื่อน ๆ ในทีมต้องช่วยกันประดิษฐ์แอร์โบ๊ทวิทยุบังคับ แล้วนำไปแข่งกับทีมอื่น ๆ ต้องช่วยกันคิดออกแบบว่าทำยังไงเรือถึงจะลอยและมีสมดุล แถมยังต้องวางแผนเรื่องงบประมาณด้วย ตอนแข่งก็ลุ้นสุด ๆ เลยค่ะ ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ก็สนุกไม่แพ้กัน ถ้าเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ คนไหนมีโอกาส ก็อยากให้ได้มาลองเข้าค่ายสนุก ๆ แบบนี้กันนะคะ”
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “สวทช. มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน โดยจัดเตรียมบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเป็นสถานที่ช่วยส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัยของการเรียนรู้ ซึ่งทางสวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จะมีส่วนในการผลักดันให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่สังคมไทย”
รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาของคิวบิกครีเอทีฟ กล่าวว่า “ค่ายเยาวชนคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์ รุ่นที่ 10 เป็นค่ายเยาวชนที่เน้นการเรียนรู้ที่สนุก เพราะเราเชื่อว่า ความสนุกคือการเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุด ดังนั้น ค่ายนี้จึงเน้นการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ "ชีวิต", "การแก้ปัญหา" "ความคิดสร้างสรรค์" และ “เทคโนโลยีทันสมัย” และได้สร้างสรรค์กิจกรรมและบรรยากาศต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน”
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ซีเกทให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราเชื่อมั่นว่าค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่มีเอกลักษณ์และรวมศาสตร์ที่มีความหลากหลายไว้ด้วยกัน จะช่วยจุดประกายให้เยาวชนสนใจศึกษาและทำงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่เราได้เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้พิการและด้อยโอกาสได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศไทยของเราอย่างยั่งยืนต่อไป”
ข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับส่วนราชการ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด และเข้าถึงความต้องการของทั้งภาคการเกษตรและ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ สิ่งทอ การประมง และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี เกิดการสร้าง นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลกได้
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวพรวดี ปิยะคุณ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทร.0-2715-2907, Email: pornvadee.piyakhun@seagate.com