"ไทยรัฐออนไลน์" พูดคุยกับ 2 บุคคลที่สามารถพูดได้ว่า ภาษาอังกฤษคือใบเบิกทางของชีวิต และการเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลก นั่นคือ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และน.ส.รวิกานต์ เดชดี International Marketing Executive ของบริษัท Galaxy works groups และพิธีกรรายการท่องเที่ยวภาคภาษาอังกฤษ Thailand@Large ทางช่อง NBT World
"ไทยรัฐออนไลน์" จึงรวบรวมเทคนิคการ "ฝึกภาษาอังกฤษ" จากการพูดคุยทั้ง 2 คน นั่นคือ "การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เสมือนจริง"
ดูภาพยนตร์
ถูกแนะนำเป็นอันดับแรก เพราะการดูภาพยนตร์ที่มีซับไตเติ้ลเป็นภาษาอังกฤษนั้น โดยหลีกเลี่ยงซับไตเติ้ลภาษาไทย จะทำให้เรารู้จักธรรมชาติการพูดคุยที่แท้จริงว่าเขาออกเสียงอย่างไร ใช้รูปประโยคไหน และสนทนากันอย่างไร โดยให้เลือกภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ การ์ตูน ซีรีส์ นอกจากนี้ยังได้เรื่องการฟังอีกด้วย และถ้าหากช่วงแรกฟังไม่รู้เรื่อง ก็ขอให้อดทนฟังต่อไป ไม่ต้องตกใจ ทำไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆ ฟังออกเอง
ฟังเพลง-ร้องเพลงตาม
หากอยากฝึกเรื่องการฟังมากกว่านี้ หรือฟังสำเนียง สามารถใช้ได้จากการร้องฟังและร้องเพลงภาษาอังกฤษ ซึ่งสมัยนี้หาง่ายมากในอินเทอร์เน็ตที่จะมีคาราโอเกะไปด้วย ยิ่งหากเป็นเด็กเล็กก็จะยิ่งช่วยให้เรื่องการกระดกลิ้น หรือฟอร์มรูปปาก เพื่อให้เสียงที่ออกมานั้นถูกต้องตามหลัก
เขียนไดอารี่
รวิกานต์บอกว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่เธอทำสมัยยังเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งโฮสต์ให้เธอเล่าว่า ในแต่ละวันทำอะไรมาบ้าง เมื่อหัดไปเรื่อยๆ แล้วนำบันทึกครั้งแรกมาเปรียบเทียบกับบันทึกครั้งล่าสุด หลังจากสิบเดือนให้หลัง ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของการเขียน สำนวน และชุดคำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเธอก็แนะนำวิธีนี้ให้ป็นหนึ่งในการฝึกภาษาอังกฤษ
ตั้งค่าทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ
ทั้ง ผศ.ดร.วรัชญ์ และรวิกานต์พูดตรงกันว่า การตั้งค่าทุกอย่างให้เป็นภาษาอังกฤษ เป็นอีกตัวช่วยให้เราคุ้นชินกับการมอง เห็น และอ่านภาษาอังกฤษ เราสามารถตั้งค่าได้ทุกสิ่ง เช่น เมนูในมือถือของเรา เฟสบุ๊ค หรือโชเชียลมีเดียอื่นๆ หรืออาจลองตั้งสเตตัสเป็นภาษาอังกฤษดูบ้าง
ดูข่าว อ่านข่าว อ่านอะไรก็ได้ที่เป็นภาษาอังกฤษ
วิธีนี้ช่วยให้ซึมซับสำนวน และการเขียนไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่ง ผศ.ดร.วรัชญ์แนะนำว่า ให้เริ่มอ่านจากสิ่งที่เราชอบ หรือสนใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจะทำให้เราไม่เบื่อ เช่น ข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง อ่านไม่รู้เรื่องก็ต้องอ่าน และพยายามอ่านไป มีศัพท์ที่ไม่รู้จริงๆ ค่อยเปิดดิกชันนารีที่เป็นอังกฤษแปลอังกฤษ เพื่อฝึกไปอีกทอดหนึ่ง
ฝึกพูดหน้ากระจก
ไม่ต้องอายตัวเอง หากคุณจะต้องพูดกับตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งรวิกานต์เองก็ใช้วิธีนี้ "เริ่มต้นด้วยการพูดด้วยตัวเอง ตอนนั้นอยากเป็นผู้ประกาศข่าวภาษาอังกฤษมาก ก็นั่งพูดเลย ค่อยๆ ออกเสียง พยายามออกเสียงให้ถูก ดูการฟอร์มรูปปากให้ถูกต้อง ซึ่งในกูเกิลมีหมดเลย มันอยู่ที่เราขวยขวาย บางคนคิดว่า ภาษาอังกฤษต้องพูดเร็ว แต่จริงๆ แล้วพูดช้าแต่ชัวร์ดีกว่า เพราะตัวอังกฤษทุกตัวมีเสียงของมัน เดี๋ยวเราพูดได้พูดคล่อง เราก็จะพูดเร็วเอง"
อดทน อดกลั้น และฝึกฝน
เป็นเทคนิคสุดท้ายที่มีผลมากที่สุดในบรรดาข้อแนะนำที่กล่าวมา ซึ่งรวิกานต์บอกว่า เมื่อฝึกไปได้สักพักจะเจอจุดที่ท้อ ซึ่งจุดนั้น จะเป็นตัวกำหนดว่า เราจะเดินหน้า หรือถอยหลังกลับดี ดังนั้น จึงต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า อยากได้ภาษาอังกฤษเพราะอะไร มีเป้าหมายอย่างไร ส่วนเหตุผลว่า เราโตเกินไปที่จะฝึกนั้นเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะ "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" ขอแค่ว่า เราอยากได้สิ่งนั้นมากแค่ไหน
รวิกานต์แนะนำว่า ลองให้เวลากับภาษาอังกฤษสักวันละ 2-3 ชั่วโมง แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะมีคนหลายคนที่อยากเก่งภาษา และรู้ว่าจะทำให้อย่างไร เรื่องนี้ก็เหมือนการหัดปั่่นจักรยาน เล่นดนตรี ที่เราไม่สามารถทำได้ในครั้งแรก แต่ก็จะมีบางคนที่มีพรสวรรค์ก็จะสามารถทำได้ดีตั้งแต่ช่วงแรก แต่เมื่อไม่มีพรสวรรค์ จึงต้องใช้พรแสวงแทน โดยยกตัวอย่างประสบการณ์เมื่อครั้งได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
"มีคนเข้าใจผิดเยอะว่าไปแลกเปลี่ยนเพียงปีเดียวจะได้ภาษาเลย แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ สามเดือนแรกจะร้องไห้กลับไทยทุกวัน เพราะฟังไม่ได้ฟังไม่รู้เรื่องเลย ต้องเดินไปบอกครูที่สอนว่าให้เขียนการบ้านให้หน่อย เพราะฟังไม่ได้ แต่ที่นี้เราได้เปรียบแค่ว่าบรรยาากาศมันบังคับต้องพูดให้ได้ แล้วโฮสต์ก็เข้มงวดเรา ให้พูดภาษาไทยได้แค่ 20 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น ทำให้เรารู้ว่าแก่นแท้ของการฝึกภาษาอังกฤษนั้นคืออะไร"
ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์บอกว่า ไม่ควรฝึกอะไรที่ทำให้หนัก หรือบังคับตัวเองมากเกินไป เพราะจะทำให้เราเบื่อง่าย แต่ภาษาอังกฤษเมื่อเรียนมาแล้ว หากไม่ใช้ หรือไม่พัฒนา เพราะกลัวเสียหน้า หรือกลัวอาย ก็จะยิ่งทำให้เราไม่ได้มากขึ้น เพราะภาษาเป็นเรื่องของทักษะ และทักษะจำเป็นต้องใช้การฝึกอย่างต่อเนื่อง เหมือนการต่อเติมบ้านที่จะต้องค่อยๆ ทำ
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ อ่านเพิ่มเติมทั้งหมดได้ที่นี่