วันที่ 4 มิถุนายน 2557 นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)และ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างกันทางด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลาย ชนิด การแพร่กระจาย ฤดูกาล ของแมงกะพรุนพิษในประเทศไทย รวมถึงแนวทางการป้องกันการบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษ
นายนพพล กล่าวว่า ทช.ได้ ทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุนพิษและที่สงสัยว่ามีพิษในน่านน้ำไทยรวมทั้งการพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุนพิษรวมทั้งท่อบรรจุน้ำส้มสายชู(vinegarpole) สำหรับล้างพิษเบื้องต้น ในพื้นที่ 6 จังหวัด ของชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งได้แก่ จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และระนอง และอีก 3 จังหวัดทางฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านการจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนพิษเพื่อความเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อไปทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงที่ถือว่ามีแมงกะพรุนหลากกว่าช่วงอื่นๆ
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีคร. กล่าวว่า มีข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษขณะมาเที่ยวทะเลในประเทศไทย จากการวิจัยโดยสำนักระบาดวิทยา พบว่า มีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 จำนวน 918 ราย มีอาการหนักจนถึงหมดสติหรือเสียชีวิต
"พบว่า มีอย่างน้อย 12 รายมีอาการคล้ายกับถูกพิษของ แมงกะพรุนพิษชนิดที่เรียกว่าแมงกะพรุนกล่อง ซึ่ง ที่มีพิษร้ายแรงแต่พบได้ไม่บ่อย และความรู้เรื่องแมงกะพรุนกล่องยังเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงวิชาการของประเทศไทย ซึ่งต้องมีการศึกษาและเผยแพร่ให้ทั้งนักวิชาการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนรับรู้ในวงกว้าง แมงกะพรุนกล่องนี้พบทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันโดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมักเป็นบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาดในพื้นที่อ่าวโค้งเว้าในช่วงที่คลื่นลมสงบเนื่องจากแมงกะพรุนกล่องมักมาหาเหยื่อพวกลูกกุ้งลูกปลาในพื้นที่ลักษณะนี้"
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง ได้แก่ การสวมเสื้อผ้ามิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัวขณะลงทะเลในพื้นที่และฤดูกาลที่พบแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งวิธีการนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อกันแมงกะพรุนซึ่งจะทำบริเวณน้ำตื้นริมหาดและให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำในบริเวณที่กั้นตาข่ายนั้นรวมถึงการให้มีจุดวางน้ำส้มสายชูและติดป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นน้ำส้มสายชูมีฤทธิ์ในการระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์การราดด้วยน้ำส้มสายชูจึงไม่ได้ลดอาการปวด แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับพิษเพิ่มขึ้น ให้ใช้น้ำส้มสายชูทั่วไปที่ใช้ในครัวเรือนโดยไม่ต้องผสมน้ำให้เจือจาง และราดให้ทั่วบริเวณที่สัมผัสหนวดแมงกะพรุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2557