ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการเร่งด่วนของ ศธ. โดยมีพลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557
• กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ปลัด ศธ. กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกองทุน กยศ.ได้ให้ความเห็นชอบการเพิ่มจำนวนผู้กู้รายใหม่ตามที่ ศธ.เสนอ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดหางบประมาณในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ ศธ.จึงเสนอของบประมาณให้แก่กองทุน กยศ. เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้กู้รายใหม่ได้กู้ยืมเรียน จำนวน 204,000 ราย เป็นเงิน 3,610 ล้านบาทนั้น
จากการหารือในครั้งนี้ ประธานได้ขอให้การดำเนินโครงการยึดถือประโยชน์ของผู้เรียนเป็นหลัก และให้โอกาสอย่างทั่วถึงเป็นธรรม โดยมอบหมายให้ผู้จัดการกองทุน กยศ.พิจารณาทบทวนจำนวนงบประมาณที่จะขอเพิ่มในปี 2557 และปี 2558 พร้อมทั้งงบประมาณในส่วนที่กองทุน กยศ.สามารถบริหารจัดการได้ เพื่อเสนอของบประมาณจากกระทรวงการคลังต่อไป
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงกระบวนการและขั้นตอนการกู้ยืมอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการติดตามทวงหนี้ เพื่อกองทุนจะได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการในอนาคต เช่น ผู้กู้เรียนจบ 2 ปี มีรายได้ ใช้เงินคืน จากนั้นก็จะนำเงินส่วนนี้ให้ผู้กู้รายใหม่ได้กู้ยืมต่อ เป็นการนำเงินที่ได้คืนมาเป็นเงินหมุนเวียน หากเป็นเช่นนี้การดำเนินงานของกองทุนก็จะมีประสิทธิภาพ และรัฐก็จะลดการสนับสนุนงบประมาณลง
จากการหารือ มีความเห็นด้วยว่าจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย จุดดีจุดเด่นของกองทุนในภาพรวม ทั้งกองทุน กยศ. และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
• งบประมาณก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานศึกษาใน จ.เชียงรายที่ประสบเหตุแผ่นดินไหว
ได้หารือประเด็น ศธ.เสนอขอรับกรจัดสรรงบประมาณสำหรับก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารเรียนที่ได้รับผลกระทบรวม 214 แห่ง จำนวน 319 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดูแลโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และช่วยแก้ไขปัญหาให้นักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยงบประมาณในภาพรวมถูกต้องชัดเจนแล้ว แต่อาจจะต้องปรับรายละเอียดในส่วนย่อย เนื่องจากมีเหตุอาฟเตอร์ช็อคทำให้ไม่สามารถสรุปความเสียหายที่ชัดเจนได้ โดยคาดว่าจะปรับแก้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งนำเสนอขอความเห็นชอบได้ภายใน 2 วัน
• โครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน
ที่ประชุมได้ขอให้ ศธ.ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้แท็บเล็ตให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้บริหาร ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้จัดประชุมระดมความคิดเห็น ศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบเกี่ยวกับการใช้แท็บเล็ตที่ผ่านมา รวมทั้งให้นำผลการติดตามและประเมินผลการใช้แท็บเล็ตจากหน่วยงานต่างๆ มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย เช่น ผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ ศธ. การประเมินผลของ สพฐ. สช. หรือหน่วยงานที่ได้ใช้แท็บเล็ตทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้ใช้แนวทางดังกล่าวเป็นกรอบในการดำเนินงานสำหรับการจัดหาแท็บเล็ตในโซนที่ยังไม่ได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 (คือโซนที่ 4) รวมทั้งเพื่อเป็นแนวทางดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 ด้วย โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการระดมความคิดเห็นของคณะทำงาน พร้อมทั้งนำเสนอขอความเห็นชอบได้ภายใน 2 สัปดาห์
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ