ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลุ่มงานฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557
ปลัด ศธ. กล่าวว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกลุ่มงานสังคมจิตวิทยา ได้เชิญข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและผู้บริหารระดับสูงเข้าประชุมชี้แจงและหารือแนวทางการทำงานของแต่ละกระทรวงเป็นครั้งแรก ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ที่ประชุมเห็นว่า ศธ.ควรเร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การปฏิรูปการศึกษา ศธ.จะได้เร่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษาใน 3 เรื่อง คือ การปฏิรูปครู ปฏิรูปห้องเรียน และปฏิรูปการบริหารการศึกษา ซึ่งจะต้องปรับระบบการศึกษาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งต้องเสริมสร้างระบบการคิดวิเคราะห์ สนับสนุนความรู้ด้านภาษาให้แก่ผู้เรียนมากขึ้น ตลอดจนการสร้างวินัยให้แก่เด็กและเยาวชน ปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบ โดยการปฏิรูปการศึกษาจะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ
- การจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเงิน 3,610 ล้านบาท เพื่อให้ผู้กู้รายใหม่ได้กู้เรียน จำนวน 204,000 ราย ซึ่งเป็นข้อเสนอนโยบายสำคัญที่ขอให้ คสช.เร่งดำเนินการ
- การจัดงบประมาณเพื่อก่อสร้าง/ซ่อมแซมอาคารเรียนจากเหตุแผ่นดินไหว ที่จังหวัดเชียงราย เป็นจำนวนเงิน 298 ล้านบาท
- การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
- โครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ศธ.ได้รายงานภาพรวมของการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ได้มีการจัดสรรแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนเรียบร้อยแล้วในโซนที่ 1 โซนที่ 2 และโซนที่ 3 ส่วนโซนที่ 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) อยู่ในระหว่างกระบวนการที่จะจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ภายในเดือนมิถุนายน 2557 รวมถึงการจัดซื้อจัดหาแท็บเล็ตในปี 2557 ซึ่งที่ประชุมขอให้ไปศึกษารายละเอียดก่อนว่าการจัดซื้อที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไร และจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะต้องการให้โครงการแท็บเล็ตเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุด หรืออาจเปรียบเทียบกับการจัดเป็นห้องเรียนในรูปแบบห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) แทน ซึ่ง ศธ.จะนำทั้งสองรูปแบบมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า การจัดซื้อจัดหาแท็บเล็ตหรือจัดห้องเรียน Smart Classroom ระบบใดก่อให้เกิดผลประโยชน์และความคุ้มค่ากับเด็กสูงสุด และการบริหารจัดการงบประมาณที่จำกัด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ