ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
พระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
๑. พระอานนท์ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ท่านออกบวชแล้วได้เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระอานนท์ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก ท่านจึงมีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ สืบมาจนทุกวันนี้
๒. พระอุบาลี เคยเป็นพนักงานรักษาภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านออกบวช พร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่นๆ โดยได้รับเลือกจากเจ้าชายเหล่านั้นให้อุบาลีบวชก่อน พวกตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุเป็นการแก้ทิฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช ท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ จนแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญท่านด้วย ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้
๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็น หลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก เรื่องของท่านมีปรากฎในพระสุตตันตปิฎกความว่า เดิมท่านเป็น อุบาสกคอยรับใช้พระมหากัจจานเถระ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ต่อมา ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม พระพุทธเจ้าตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์จนจบ เมื่อจบแล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่
๔. พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่ออายุสูง แม้ท่านไม่ใคร่สั่งสอนใคร แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือ ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิด พระไตรปิฎก
นอกจากพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระเถระ ๔ รูปนี้แล้ว พระพุทธเจ้า ยังได้เคยแนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกกัน เหมือนอย่างสาวกของนิครนถนาฏบุตร ที่แตกกันหลังจากผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พระพุทธสุภาษิตที่แนะนำรวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่ม ต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ทำสังคายนาก็ดี ก็ต้องกล่าวถึงความปรารถนาดีของพระจุนทเถระ ครั้งแรกก็คือท่านได้เข้าพบพระอานนท์ เมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ซึ่งพระอานนท์ชวนให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังคือ เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีกขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการ สุดท้ายทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่า สาราณิยธรรม ซึ่งการเข้าหาพระอานนท์ทั้ง ๒ ครั้งของพระจุนทเถระนี้คือ ความปรารถนาดีของท่าน ที่ห่วงใยใน ความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา
การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?
การสวดปาฏิโมกข์คือการ “ว่าปากเปล่า” หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย 150 ข้อ ในเบื้องแรก และ 227 ข้อในกาลต่อมาทุกๆ กึ่งเดือนหรือ 15 วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าว ทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก 15 วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด
การสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า “ร้อยกรอง” คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำสืบต่อๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระ พุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไรแล้วก็ทำการสังคายนา แล้วจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลานก็เรียกว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดเข้าใจผิดเกิดขึ้น การสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจ ผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันควรแม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดเข้าใจผิด
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก โดย นายสุชีพ ปุญญานุภาพ
ในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเป็นตัวหนังสือ เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ท่านใช้วิธีท่องจำคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วกล่าวทบทวนหรือสวดพร้อม ๆ กันนำสืบต่อกันมาโดยเหตุที่คำสั่งสอนมีอยู่มากถึงขนาดเมื่อพิมพ์รวมเป็นเล่มหนังสือพระไตรปิฎกแล้วมีจำนวนถึง ๔๕ เล่ม ยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะท่องจำเพียงผู้เดียวให้จบบริบูรณ์ได้ จึงมีการแบ่งหน้าที่กันให้กลุ่มนี้ท่องจำส่วนนี้ กลุ่มนั้นท่องจำส่วนนั้นกลุ่มอื่นท่องจำส่วนอื่น รวมกันหลาย ๆ กลุ่มช่วยกันท่องจำพระไตรปิฎกเรียงลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถกล่าวทบทวนปากเปล่าได้
เมื่อมีการใช้ตัวหนังสือและมีการเขียนหนังสือแพร่หลายขึ้น จึงได้มีการจดจารึกข้อ-ความแห่งพระไตรปิฎกลงในใบลาน ใบลานคือใบของต้นลาน ซึ่งนอกจากใช้สานทำหมวกทำเครื่องใช้อื่น ๆ แล้ว ยังใช้แทนกระดาษในสมัยที่ยังมิได้คิดทำกระดาษขึ้น
วิธีจดจารึกข้อความลงในใบลานที่เรียกว่า "จาร" นั้น คือใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" เขียนหรือขีดข้อความเป็นตัวหนังสือลงไปในแผ่นใบลาน แล้วเอาเขม่าหรือดินหม้อซึ่งมีสีดำผสมกับน้ำมันมะพร้าว คนให้เข้ากันดีแล้วทาถูลงไปบนรอยที่ขีดเขียนนั้น แล้วเอาผ้าเช็ดให้แห้ง สีดำที่ซึมลงไปในรอยขีดเขียน จะปรากฏเป็นตัวหนังสือให้อ่านข้อความได้ตามความประสงค์ เมื่อรวมใบลานได้หลายแผ่นแล้วถ้าจะทำให้เป็นชุดเดียวกันคล้ายเล่มหนังสือก็เอาเหล็กแหลมเผาไฟเจาะให้เป็นช่อง เอาด้ายร้อยรวมเป็นผูก แล้วใช้ผ้าห่อเก็บไว้ให้เป็นชุดติดต่อกัน การจดจารึกข้อความแห่งพระไตรปิฎก ลงในใบลานนี้กระทำเป็นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา เมื่อ ๔๓๓ สมัยของพระเจ้าวัฎฎคามณีอภัย บางหลักฐานก็ว่าเมื่อ พ.ศ.๔๕๐