"กฎอัยการศึก" ของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "กฎอัยการศึก ร.ศ. 126" ต่อมาใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าอำนาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 นั้นยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตำราพิชัยสงครามตามแบบอินเดีย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรา กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา และยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ซึ่งเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิพลเมืองฉบับแรกๆ ของประเทศไทยได้ประกาศใช้ในสถานการณ์พิเศษ ที่จำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.สถานการณ์พิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับการจลาจลหรือสงคราม
2.สถานการณ์พิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร
ทั้งนี้ ในส่วนของการประกาศกฎอัยการศึก ที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารนั้น มีทั้งสิ้ง 8 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เนื่องจากการก่อรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 เวลา 23.00 น. ใช้บังคับทุกจังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 76 ต่อมาประกาศยกเลิกจนครบทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2501
ครั้งที่ 2 เนื่องจากการก่อรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เวลา 21.13 น. บังคับใช้ทุกจังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 81 ต่อมาประกาศยกเลิก 37 จังหวัด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514
ครั้งที่ 3 เนื่องจากการรัฐประหารโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เวลา 20.11 น. ใช้บังคับทุกจังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 88 ตอนที่ 124 ต่อมาได้มีประกาศยกเลิก 41 จังหวัด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2517 จนกระทั่งต่อมาในเวลาไล่ๆ กันก็ประกาศยกเลิกอีก 2 จังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 50
ครั้งที่ 4 เนื่องจากการรัฐประหารโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 09.10 น. ใช้บังคับทุกจังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 120
ครั้งที่ 5 เนื่องจากการรัฐประหารโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เวลา 18.00 น. คงให้ใช้บังคับกฎอัยการศึกตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต่อไป และต่อมาได้มีประกาศยกเลิก 30 จังหวัด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2527 เวลา 06.00 น. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 101 ตอนที่ 104
ครั้งที่ 6 เนื่องจากการรัฐประหารโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เวลา 11.30 น. ใช้บังคับทุกจังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 32 ต่อมาได้มีประกาศยกเลิก 52 จังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 77 และต่อมาได้ประกาศยกเลิกอีก 1 จังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 242 ก
ครั้งที่ 7 เนื่องจากการรัฐประหารโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 21.05 น. ใช้บังคับทุกจังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 95 ก ต่อมาได้มีประกาศยกเลิก 35 จังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 7 ก และต่อมาได้มีประกาศยกเลิกอีก 27 จังหวัด แต่ประกาศใช้บังคับเพิ่มเติม 9 จังหวัด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 5 ก
และครั้งที่ 8 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงนามในประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03.00น. เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร