การจัดนิทรรศการหนังสือ
ความหมายของการจัดนิทรรศการหนังสือ
ความหมายของนิทรรศการหนังสือ มีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
รสา วงศ์ยังอยู่ (2546.: 271) นิทรรศการหนังสือ คือ การจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีข้อมูล และใช้สื่อหลาย ๆ อย่าง เช่น รูปภาพ หนังสือ หุ่น เป็นต้น เป็นการสรุปความรู้อย่างย่อ ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การหาความรู้จากหนังสือให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในภายหลัง เป็นการจัดนิทรรศการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเร้าใจให้ผู้ชม และผู้ฟังได้รู้จักหนังสือ สนใจและใคร่อ่านหนังสือต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น การจัดนิทรรศการหนังสือเป็นการจัดแสดงหนังสือเป็นสำคัญอาจมีรูปภาพ สิ่งของ ประกอบ เพื่อดึงดูดความสนใจในหนังสือ
สุพรรณี วราทร (2550.: 66) นิทรรศการหนังสือ คือ การให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหนังสือเรื่องหนึ่งหรือหนังสือกลุ่มหนึ่งซึ่งมีลักษณะร่วมกัน เช่น ในด้านประเภท แนวคิด ตัวละคร ฉาก หรือลักษณะพิเศษ เช่น วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัล โดยการจัดแสดงซึ่งมีการใช้สื่อหลายชนิด เช่น ข้อเขียน รูปภาพ สิ่งของ และหนังสือ เป็นต้น ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหนังสือในนิทรรศการจะกระตุ้นความสนใจและนำไปสู่การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จัดนิทรรศการมากยิ่งขึ้นโดยการอ่านหนังสือ
ฉวีวรรณ คูหาภินันท์ (2542.: 275) นิทรรศการหนังสือ คือ การแสดงหนังสือและวัสดุ ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้รับความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่จัดแสดง ตลอดจนกระตุ้นให้สนใจอยากอ่านหนังสือที่นำมาจัดนิทรรศการ
สมจิต พรหมเทพ (2542.: 137) ห้องสมุดนิยมจัดนิทรรศการเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการเกิดความสนใจในหนังสือ และการอ่านเป็นการดึงผู้ใช้บริการให้เข้าหาหนังสือ และเข้าใช้บริการต่าง ๆ และเข้าร่วมกิจกรรมของห้องสมุด ซึ่งผู้จัดนิทรรศการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะของการจัดนิทรรศการ และพยายามโยงเรื่องของนิทรรศการด้วยสี ภาพ ตัวอักษร วัสดุอุปกรณ์ เข้าสู่หนังสือและเรื่องราวของหนังสือ ตลอดจนให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวทั่ว ๆ ไป และสอดคล้องกับกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ของโรงเรียน
การจัดนิทรรศการหนังสือ เป็นการจัดนิทรรศการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเร้าใจให้ผู้ชม และผู้ฟังได้รู้จักหนังสือ สนใจและใคร่อ่านหนังสือต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น (ศรีรัตน์ เจิงกลิ่นจันทร์. 2542. 117)
การจัดนิทรรศการหนังสือก็เช่นเดียวกับการจัดนิทรรศการโดยทั่วๆ ไป มีการใช้สื่อหลายประเภทเช่น รูปภาพ ของจริง ของตัวอย่าง หุ่น หนังสือ ฯลฯ มาแสดงและมีกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบ เช่น การสนทนา การอภิปราย การโต้วาที การสาธิต การแสดงละคร การเล่าเรื่องหนังสือ เกมและการแข่งขันต่าง ๆ การทายปัญหา ฯลฯ ตัวอย่าง นิทรรศการหนังสือ เช่น “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” เป็นนิทรรศการหนังสือระดับชาติ ไม่จำกัดขอบเขตของผู้เข้าชม สำหรับหน่วยงานที่ควรจัดนิทรรศการหนังสือ ได้แก่ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเฉพาะ ห้องสมุดประชาชน และหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งลักษณะและขอบเขตของนิทรรศการหนังสือแต่ละครั้งย่อมมีความแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของการจัดและความพร้อมขององค์ประกอบในการจัดนิทรรศการ อันได้แก่งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ (ศรีรัตน์ เจิงกลิ่นจันทร์. 2542. 117)
สรุป การจัดนิทรรศการหนังสือดังกล่าว พอจะประมวลได้ว่า การจัดนิทรรศการหนังสือหมายถึง การจัดแสดงให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหนังสือกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะร่วมกัน เช่น ในด้านประเภท แนวคิดของเรื่องหรือบุคคล ตัวละคร ฉาก สถานที่ ผลงานของบุคคล หรือหนังสือที่ได้รับรางวัล ต่าง ๆ โดยการจัดแสดงซึ่งมีการใช้สื่อหลากหลายชนิด เช่น ข้อเขียน รูปภาพ หนังสือ หุ่นจำลอง ของจริง ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระของหนังสือ เป็นต้น เป็นการจัดนิทรรศการเพื่อเร้าใจให้ผู้ชมเกิดความสนใจในหนังสือ ได้รู้จักหนังสือ กระตุ้นความสนใจในการเข้าสู่หนังสือและเรื่องราวของหนังสือ และใคร่อยากอ่านหนังสือต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การแสวงหาความรู้มากยิ่งขึ้นโดยการอ่านหนังสือ อันจะเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ต่อเนื่องให้เกิดกับผู้ชมต่อไป นอกจากนี้การอ่านหนังสือเป็นการดึงผู้ใช้บริการให้เข้าใช้บริการต่าง ๆ และร่วมกิจกรรมของห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น
จุดมุ่งหมายของการจัดนิทรรศการหนังสือ
จุดมุ่งหมายของการจัดนิทรรศการหนังสือ มีดังนี้
1. เพื่อเป็นการเร้าใจให้ผู้เข้าใช้ห้องสมุดสนใจหนังสือที่แนะนำ รู้จักหนังสือต่าง ๆ มากขึ้น และเกิดแรงจูงใจที่จะทำให้อยากอ่านหนังสือมากขึ้น
2. เพื่อเพิ่มพูนความรู้แขนงต่าง ๆ ในด้าน ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ฯลฯ ที่ปรากฏในหนังสือและสื่อที่นำมาจัดแสดง
3. เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านหนังสือแก่ผู้ชม
4. เพื่อแนะนำหนังสือใหม่ของห้องสมุดให้ผู้ใช้ห้องสมุดทราบ
สถานที่จัด
สถานที่จัด อาจใช้สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่เหมาะสมภายในบริเวณห้องสมุด ที่ที่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย ทั้งนี้แล้วแต่ลักษณะของการจัด และตกแต่งให้สะดุดตาน่าสนใจ
การจัดอย่างง่าย สามารถทำได้โดย
1. แสดงหนังสือเพียงเล่มเดียว ใช้ที่ตั้งแสดงหนังสือ หรือโปสเตอร์บอกรายการบรรณานุกรมของหนังสือ พร้อมทั้งบรรณนิทัศน์สังเขป อาจจะจัดหนังสือ โดยจัดวางบริเวณต่าง ๆ ดังนี้
- บนโต๊ะ
- บนตู้บัตรรายการ
-บนตู้หรือชั้นหนังสือ
- ในตู้นิทรรศการ
อาจมีวัสดุประกอบบ้างก็ได้ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
2. จัดแผ่นป้ายนิทรรศการ ตั้งอยู่เสมอระดับตาในที่มองเห็นได้เด่น
โดยมีหลักในการจัดดังนี้ คือ
1. การสื่อความหมายที่เข้าใจง่าย
2. ความสะดุดตา โดยภาพ สี และการตกแต่ง
3. เนื้อหาน่าสนใจและถูกต้อง
4. วัสดุอุปกรณ์ประกอบเนื้อหาที่ใช้ในการตกแต่งน่าสนใจ
5. ความแปลกใหม่ สวยงาม โดยใช้ศิลปะการจัด
เรื่องที่จัด (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 272)
เรื่องที่จัด อาจเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่อง เช่น
- หนังสือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ปรากฏการณ์ของฝนดาวตก สุริยุปราคา สินามึ เป็นต้น
- หนังสือในวาระพิเศษ เช่น สัปดาห์แห่งการป้องกันฟันผุ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สัปดาห์วันสิ่งแวดล้อมโลก สัปดาห์วันสูบบุหรี่โลก เป็นต้น
- หนังสือที่ได้รับรางวัล เช่น รางวัลซีไรท์ รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รางวัลแว่นแก้ว เป็นต้น
- หนังสือชุดตามหัวเรื่อง เช่น หนังสือหายาก หนังสือเล่มจิ๋ว หนังสือสามมิติ หนังสือมี เสียง หนังสือมีกลิ่น หนังสือเด็กนานาชาติ หรือหนังสือชุดวัฒนธรรมประเพณีของไทย การละเล่นพื้นบ้าน วรรณคดีไทย ศิลปกรรม มรดกไทย ประวัติบุคคลสำคัญ ศาสนา การท่องเที่ยวเดินทาง เป็นต้น
- หนังสือประเภทต่าง ๆ เช่น หนังสือนวนิยาย หรือหนังสือสารคดี หนังสือ การท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้สามารถจัดนิทรรศการหนังสืออื่น ๆ ที่ให้ความรู้น่าสนใจในการผลิตหรือเกี่ยวข้องกับหนังสือได้อีก เช่น
หนังสือนวนิยาย
ที่คั่นหนังสือนานาชาติ
นักเขียนหนังสือประเภทต่าง ๆ
นักวาดภาพประกอบหนังสือ
การผลิตหนังสือ
การระวังรักษาหนังสือ
ร้านหนังสือในประเทศ
สำนักพิมพ์หนังสือในประเทศไทย และสำนักพิมพ์หนังสือนานาชาติ
ทั้งนี้การจัดนิทรรศการหนังสือต้องให้เหมาะสมกับช่วงเวลา โอกาส สถานที่ และพื้นฐานของผู้ชม
การเตรียมการและวัสดุอุปกรณ์ในการจัด (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 272-273)
การจัดเตรียมวัสดุ ซึ่งอาจเลือกใช้ให้ตรงตามความมุ่งหมาย ตามความเหมาะสมกับเรื่องที่จะจัด ได้แก่
1. ใบหุ้มปกหนังสือ
2. หนังสือ
3. รูปภาพ สี ขาว-ดำ ภาพโฆษณา ภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพจากหนังสือพิมพ์ (ภาพพิมพ์)
4. กราฟ แผนที่ แผนภูมิ
5. วัตถุต่าง ๆ เช่น หุ่น ตุ๊กตา ของเล่น ของจำลอง สิ่งประดิษฐ์
6. วัสดุของจริงที่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องในหนังสือ หรือหัวข้อที่จัดนิทรรศการ
7. สิ่งที่ช่วยในการตกแต่ง ได้แก่ เชือก ริบบิ้น เศษผ้า เศษแพร ลวด ฯลฯ
8. เครื่องเขียนต่าง ๆ ได้แก่ กระดาษวาดเขียน กระดาษโปสเตอร์ กระดาษสีต่าง ๆ ไม้บรรทัด วงเวียน ยางลบ จำพวกสี ได้แก่ สีน้ำ สีโปสเตอร์ ดินสอสี หมึก พู่กัน
9. เครื่องมือในการตัด ได้แก่ มีด กรรไกร
10. เครื่องมือและวัสดุในการผนึก ได้แก่ กาวประเภทต่าง ๆ เช่น กาวยางน้ำ แป้งเปียก สกอตเทป คลิป เข็มหมุด เป๊ก ฯลฯ
11. วัสดุอุปกรณ์ในการจัดนิทรรศการนี้ ควรจะจัดหาไว้และเพิ่มเติมอยู่เสมอ บางอย่างอาจยืมจากที่อื่นบ้าง และเลือกใช้ตามความเหมาะสม
การใช้สี (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 273-274)
1. สีที่กลมกลืนกัน
แดง-น้ำเงิน แดง-ดำ-ส้ม
แดง-ทอง แดง-ดำ-เหลือง
ส้ม-ม่วงแดง ส้ม-น้ำตาล-เหลือง
เขียว-ครีม ส้ม-ขาว-น้ำเงิน
ม่วง-ชมพู เขียว-ขาว-น้ำเงิน
2. สีที่ตัดกัน
เหลือง-ม่วง ม่วงแดง-ตองอ่อน
แดง-เขียวใบไม้ แสด-เขียวคราม
ส้ม-น้ำเงิน เหลืองแก่-ม่วงคราม
3. จิตวิทยาในการใช้สี
- สีแดง ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ
- สีอ่อนแก่ของชมพู ทำให้เกิดความพึงพอใจในความงดงาม
- สีเขียว หรือสีคราม ทำให้เกิดความรู้สึกเยือกเย็น ชุ่มชื่นและสงบ
- สีเทาปานกลาง ทำให้รู้สึกเงียบสงัด
- สีขาวและสีดำอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดความเศร้าสลดหดหู่ใจ
- สีขาว ทำให้เกิดความรู้สึกบริสุทธิ์
ในการจัดนิทรรศการ ควรใช้สีที่เด่น สดใส ชวนดู และอาจใช้สีขาวแทรกบ้างก็ได้ ส่วนมากป้ายนิทรรศการมักจะเป็นไม้อัดบุสักหลาดสีแก่ เช่น กรมท่า อาจใช้เสื่อกก เสื่อลำแพน เมื่อไม้ไผ่สาน ดังนั้น ควรเลือกสีแผ่นรองภาพให้ดูเด่น
สีที่ใช้จัดนิทรรศการไม่ควรเกิน 3-4 สี ซึ่งอาจจะใช้สีตัดกัน หรือกลมกลืนกันชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งนี้แล้วแต่เรื่องที่จะจัดแสดง แต่ละสีให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน (วัฒนะ จูทะวิภาต. 2526.: 177) เช่น
สีแดง ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ
สีอ่อนแก่ของสีกุหลาบ ให้ความรู้สึกสดชื่นรื่นเริง
สีเขียวและสีคราม ทำให้รู้สึกสุขุม เยือกเย็น ให้ความชุ่มฉ่ำเย็นสบาย
สีเทาปานกลาง ให้ความรู้สึกเงียบสงบ
สีขาวและสีดำอยู่ด้วยกัน ทำให้ขรึม เศร้าสลด
สีขาว ทำให้ความรู้สึกบริสุทธิ์ สะอาด
พื้นหลังของป้ายนิทรรศการ ควรเป็นสีเข้ม หรือสีอ่อน ๆ ก็ใช้ได้ผลดี
หลักปฏิบัติในการจัดนิทรรศการ (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 279)
1. ความเรียบง่าย ใช้ตัวอักษรเรียบ ๆ ให้อ่านง่าย
2. ความเด่นในการใช้สี
3. การเลือกภาพที่เหมาะสม รูปทรงต่าง ๆ
4. เนื้อหาเป็นที่น่าสนใจ
5. ความแปลกใหม่ ศิลปะในการจัด
ลักษณะของการจัด (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 279)
1. จัดอย่างง่าย แสดงหนังสือเพียงเล่มเดียว ใช้ที่ตั้งแสดงหนังสือ หรือโปสเตอร์บอกรายการบรรณานุกรมของหนังสือ พร้อมทั้งบรรณนิทัศน์สังเขป อาจจะจัดหนังสือไว้บนโต๊ะ บนชั้นหนังสือ หลังตู้บัตรรายการหนังสือ หรือในที่ที่เห็นได้โดยง่าย
2. จัดในตู้นิทรรศการ หรือที่แสดงหนังสือใหม่ อาจมีวัสดุประกอบบ้างก็ได้
3. จัดบนแผ่นป้ายนิทรรศการ ตั้งอยู่เสมอระดับตาในที่อื่นที่เด่น
การจัดนิทรรศการบนแผ่นป้าย
การจัดนิทรรศการบนแผ่นป้าย ป้ายนิทรรศการอาจเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการซึ่ง จัดแสดงได้หลายรูปแบบ การจัดป้ายนิทรรศการมีแนวทางดังนี้
1. กำหนดว่าจะจัดเนื้อหา หรือหัวข้อเรื่องอะไร จัดเตรียมเนื้อหาและจัดแบ่งเนื้อหาที่จะนำเสนอลงบนแผ่นป้ายเพียงเรื่องเดียว หรือมีหลายป้ายตามความเหมาะสมกับเนื้อหา ถ้ามีความจำเป็นต้องจัดหลายป้ายให้แยกจัด ไม่ให้มีรายละเอียดมากนัก
2. กำหนดชื่อนิทรรศการและหัวข้อเรื่อง โดยใช้ภาษาที่สื่อความหมายตรง ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด กระชับ ประดิษฐ์ตัวอักษรให้น่ามองดูเด่นสะดุดตา
3. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัด เลือกให้ตรงตามเนื้อหาและจุดมุ่งหมาย
4. วางรูปแบบในการจัดอย่างคร่าว ๆ หลาย ๆ แบบ ว่าจะจัดวางอะไร ตรงไหน ใช้ตัวอักษรอย่างไร ใช้สีอย่างไร วัสดุที่ใช้ตกแต่งควรวางอย่างไรให้เหมาะสมสวยงาม
5. จัดวางภาพและคำบรรยายประกอบตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเข้าใจเรื่องราวชัดเจนถูกต้อง จัดให้สวยงาม มีศิลปะในการจัดอย่างสวยงาม
6. ภาพหนังสือบนแผ่นป้ายนิทรรศการอาจใช้ใบหุ้มปกหนังสือ หรือจัดทำสำเนาปกหนังสือแบบสีด้วยคอมพิวเตอร์ หรือผนึกบนกระดาษแข็งหรือพลาสติกแข็งติดบนแผ่นป้ายให้สวยงาม
ข้อควรคำนึงในการจัดนิทรรศการ (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 280)
1. ความเป็นหน่วยเดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายจุดเดียว แนวคิดเดียว วัสดุที่จัดจะไม่กระจายไปในที่ต่าง ๆ แต่มีการวางจังหวะให้แลดูงาม
2. ความสมดุลหรือศูนย์ถ่วง จัดให้มีน้ำหนักพอดีกันทั้งสองข้าง มองดูไม่เอนเอียงไปข้างใด วัตถุที่ใช้ถ้าขนากเล็กจัดไว้ตอนบน ขนาดใหญ่จัดไว้ตอนล่าง วัสดุที่จัดอาจมีขนาดและรูปร่างไม่เหมือนกันก็ได้ แต่จัดให้มีน้ำหนักพอดี ๆ กันทั้งสองข้าง
3. ศูนย์แห่งความสนใจ จัดให้เด่นที่สุดอยู่เพียง 1 จุด เพื่อเน้นความมุ่งหมายของเรื่อง ซึ่งอาจเป็นตัวหนังสือ ใบหุ้มปกหนังสือ หรือวัสดุอื่นใดจัดให้อยู่ในที่ใดก็ได้ ใช้วิธีนำสายตาไปสู่จุดด้วยเส้น เส้นเดียวหรือหลายเส้น ลูกศร จุดกลม ๆ หลาย ๆ จุด ริบบิ้น เชือก หรืออื่น ๆ ก็ได้
ลักษณะของการจัดนิทรรศการที่ดี (รสา วงศ์ยังอยู่. 2546.: 280)
1. ดึงดูดความสนใจ
2. ง่าย เรียบ ชัดเจน เนื้อหาดี
3. จัดภาพดี ใช้สีเด่น
4. ข้อความประทับใจ
5. จัดวางในที่ซึ่งอยู่ในระดับสายตา มองดูได้ง่าย
วิธีดำเนินการจัดนิทรรศการ
การจัดนิทรรศการหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนดังนี้ (สุพรรณี วราทร. 2550.: 69-70)
1. วางแผนการจัดนิทรรศการหนังสือในประเภทและแนวต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าเป็นชุด เช่น ตลอดภาคการศึกษา ตลอดปี เป็นต้