ต้นสัตบรรณ - ต้นตีนเป็ด
ผิวลำต้นมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาล เปลือกสีเทา มียาง สีขาว เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง แตกกิ่งก้านสาขามากตามยอด ใบเป็นใบเดี่ยวมนรี
ต้นสัตบรรณ ถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะโซโลมอนและมาเลเซีย และป่าดงดิบภาคใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โตเร็ว ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร ผิวลำต้นมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาล เปลือกสีเทา มียาง สีขาว เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง แตกกิ่งก้านสาขามากตามยอด
ใบเป็นใบเดี่ยวมนรี ปลายใบมนโคนใบแหลมก้านใบสั้น แตกใบออกรอบข้อเป็นวง เรียงกันคล้ายตีนเป็ด จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า “ต้นตีนเป็ด” บางครั้ง ก็เรียกว่า “พญาสัตบรรณ”
สัตบรรณ ถือเป็นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานพันธุ์ไม้ดังกล่าวจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเพื่อความเป็นศิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาครผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจึงได้นำพันธุ์ไม้สัตบรรณพระราชทานมาปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ในกิจกรรมวันปลูกต้นไม้ตาม โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2537 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงถือได้ว่าต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร
ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เปลือกต้นพญาสัตบรรณรักษาโรคบิด ลำไส้ติดเชื้อ และมาลาเรีย ใบใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ในประเทศอินเดียมีการนำส่วนต่างๆ ของต้น พญาสัตบรรณมาใช้เป็นพืชสมุนไพรเช่นใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคมาลาเรียในชื่อ Ayush-64 ซึ่งมีขายตามท้องตลาด นำยางสีขาวและใบรักษาแผล แผลเปื่อย และอาการปวดข้อ นอกจากนี้ ต้นพญาสัตบรรณยังเป็นแหล่งของสารอัลคาลอยด์ที่สาคัญ ในบอร์เนียว นำเนื้อไม้ไปทำทุ่นของแหและอวน
พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาที สารสกัดจากใบสามารถยับยั้งการเจริญของคะน้าได้ สารสกัดจากเปลือกลำต้นสามารถยับยั้งการเจริญของข้าว ข้าวโพด คะน้า ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมันได้
เรียบเรียงโดย ครูบ้านนอกดอทคอม
อ้างอิง วิกิพีเดีย, เดลินิวส์