การทำศพแบบประหยัดถูกต้องและได้กุศลอย่างแท้จริง
ต้องพูดจาทำความเข้าใจกันไปก่อน พูดให้ฟัง ปลุกระดมในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงนี้ ต่อไปอีก แล้ว วันหนึ่งจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้ประหยัดเวลา ประหยัดเรี่ยวแรงอะไรมากกว่านี้ ขึ้นไปอีก เวลานี้ก็ประหยัดแล้ว เพราะว่าเราสวดกันหนึ่งทุ่ม ถ้าสวดทุ่มครึ่งนี่เปลืองไฟฟ้ามากเพราะว่าไฟเปิดตั้งแต่ 6 โมง ก่อนด้วยซ้ำไป แล้วก็มาเสร็จเอาตั้ง 3 ทุ่มมันก็เปลืองไฟฟ้า ผมเห็นว่าการใช้ไฟฟ้านี้สิ้นเปลือง ไม่เป็นการประหยัด รัฐบาลขอให้งดไฟฟ้า ที่นี่ก็เลยเปลี่ยนวิธีการทำศพเป็นเริ่มต้น 1 ทุ่ม ไปจบก่อน 2 ทุ่มเพื่อเป็นการประหยัดไฟฟ้า ประหยัดแรงงาน
แล้วอีกประการหนึ่งจะได้ให้ผู้ที่มาฟังสวดกลับบ้านไม่ดึกเกินไป เราเป็นเจ้าภาพมากันทุกๆคืน นี่มันก็ไม่ใช่น้อย มาทุกคืนมันก็เหนื่อย แต่ต้องมา คนอื่นเขาเปลี่ยน แต่เจ้าภาพต้องมากันทุกคืน
ทีนี้ประเพณีของเรานั้น มันสวดกันหลายคืนเกินไป ทำไมจึงต้องหลายคืน เพราะไม่รู้จักรวมตัวกันเข้า เรียกว่าแยกกันทำ ทำกันเรื่อยไปไม่รู้จักรวมกลุ่มตัวกันเสียเลย เอามารวมกันเสียบ้าง ไม่ได้หรือ เรียกว่าคืนหนึ่งสวดมันสัก 3 -4 ราย เรียกว่า เจ้าภาพหลาย ๆ รายมารวมกัน ไม่ต้องแยกไปว่า คืนนี้คนนั้น คืนนี้คนนี้ มันหลายคืน ถ้าเจ้าภาพมีสัก 20 คน มิต้องสวดกัน 20 คืนหรือ แต่ถ้า 20 คนนี่ เอามารวมกันเข้าเสีย แล้วแบ่งออกเป็น 2 คืน คืนละ 10 คน มันประหยัดเท่าไร เวลาก็ประหยัด คนก็มากดูมันคึกคักดี
มารวมกันแล้วปัจจัยที่ทำบุญมันก็มาก แต่เราก็ไม่ต้องถวายพระทั้งหมดหรอก ถวายพระสวดอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ส่วนที่เหลือควรจะทำอะไร ปัจจัยที่เหลือควรจะตั้งทุนไว้ สำหรับใช้จ่ายสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา เช่นที่วัดนี้นี่เปิดโรงเรียนสอนเด็กในเรื่องพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์อยู่ต้องการทุนสำหรับส่งเสริมการศึกษาส่วนนี้ถ้าเราทำให้เป็นประโยชน์ พรรคพวกมารวมกันอย่างนั้นแล้วก็ทำมันน้อย ๆ คือไม่หลายคืน ประหยัดอะไรหลาย ๆ เรื่อง แล้วเอาเงินนั้นมาตั้งเป็นทุน เป็นที่ระลึกไว้สักทุนหนึ่ง อย่างนี้มันก็ดีกว่า ดีกว่าจะทำเป็นเบี้ยหัวแตก ที่เราทำกะปริดกะปรอยกัน คนนั้น เจ้าภาพคืนหนึ่ง คนนี้เจ้าภาพคืนหนึ่ง ก็เป็นเบี้ยหัวแตกกันไปเท่านั้นเอง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จากหนังสือธรรมะเตือนใจเนื่องในงานศพ นางพิศ นิลปักษ์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.36